รีเซต

ปีหน้าแล้งหนักแน่! กอนช.เร่งแผนคุมน้ำ-แจ้งเตือนประชาชนก่อนสิ้นฝนเข้าแล้ง ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงวิกฤต

ปีหน้าแล้งหนักแน่! กอนช.เร่งแผนคุมน้ำ-แจ้งเตือนประชาชนก่อนสิ้นฝนเข้าแล้ง ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงวิกฤต
ข่าวสด
30 กันยายน 2563 ( 15:02 )
92
ปีหน้าแล้งหนักแน่! กอนช.เร่งแผนคุมน้ำ-แจ้งเตือนประชาชนก่อนสิ้นฝนเข้าแล้ง ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงวิกฤต

สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยายังน่าห่วง อิทธิพลของพายุที่พัดผ่านประเทศไทย เติมน้ำในอ่างฯได้ไม่มากนัก กนช.สั่งให้เร่งจัดทำแผนจัดสรรน้ำ คาดน้ำต้นทุนไม่เพียงพอสนับสนุนนาปรัง วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

 

กอนช.ชี้ปีหน้าแล้งหนัก - นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในเรื่องสถานการณ์น้ำโดยรวมของประเทศ เนื่องจากขณะนี้ยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางถึง 105 แห่ง จะต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30%

 

โดยเฉพาะน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 24% เท่านั้น จึงสั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนต.ค. 2563 เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำไปใช้บริหารจัดการน้ำ กำหนดมาตรการก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 ต่อไป

 

 

รวมถึงได้เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์และแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่แท้จริงให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ และจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัดรู้ คุณค่า ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

สำหรับสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศ 141,489 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 42,961 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 52% ของปริมาณการกักเก็บ โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% รวม 105 แห่ง เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 13 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันตก 2 แห่ง ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 92 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 31 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 38 แห่ง

 

ภาคตะวันออก 9 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันตก 10 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่ง ทั้งนี้ กอนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ในช่วงต้นฤดูแล้ง ปี 2563/2564 (วันที่ 1 พ.ย. 63) จะมีปริมาณน้ำรวม 42,019 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 59% ของความจุอ่าง โดยภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำคาดการณ์ 17,954 ล้านลบ.ม. ภาคเหนือ 13,062 ล้านลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,013 ล้านลบ.ม. ภาคใต้ 4,205 ล้านลบ.ม. ภาคตะวันออก 1,031 ล้านลบ.ม. และภาคกลาง 754 ล้านลบ.ม. ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ แม้ว่าอิทธิพลของพายุที่พัดผ่านประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย พายุซินลากูน ร่องมรสุม และพายุโนอึล จะช่วยเติมน้ำให้กับ 4 เขื่อนหลักรวม 2,600 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็น เขื่อนภูมิพล 654 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 1,669 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 159 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 118 ล้านลบ.ม. แต่เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในระดับกักเก็บของแต่ละเขื่อนแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนต.ค. 2563 จะยังคงมีร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกและมีน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์ว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งในวันที่ 1 พ.ย. เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 4 แห่งดังกล่าว จะปริมาณน้ำต้นทุนรวมประมาณ 6,270 ล้านลบ.ม. ใกล้เคียงกับปริมาณในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวในฤดูแล้งหรือทำนาปรัง

 

ดังนั้น จำเป็นจะต้องวางแผนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 อย่างรอบครอบ โดยจะสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการเกษตรกรต่อเนื่องเท่านั้น ซึ่งจะมีความต้องการใช้น้ำขั้นต่ำวันละ 18 ล้านลบ.ม. นอกจากนี้ ยังจะต้องสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้เพื่อการเตรียมแปลงปลูกพืชช่วงต้นฤดูฝน และใช้ในกรณีฝนทิ้งช่วงในปี 2564 อีกด้วย

 

จากมติที่ประชุม กนช. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ กอนช. จัดทำแผนและมาตรการในการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563/64 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งให้ทันต่อสถานการณ์ พร้อมทั้งให้หน่วยงานแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชน เกษตรกร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบสถานการณ์น้ำล่วงหน้า

 

เพื่อเตรียมพร้อมรับมือก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา สทนช. ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานดำเนินการจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 และให้ส่งกลับมายัง สทนช.ภายในวันที่ 12 ต.ค.2563 เพื่อสรุปนำเสนอต่อคณะทำงานอำนวยการภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประมาณกลางเดือนต.ค.นี้ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม