รีเซต

ประท้วงในอเมริกา : ปัจจัยอะไรทำให้การชุมนุมโดยสันติกลายเป็นความรุนแรง

ประท้วงในอเมริกา : ปัจจัยอะไรทำให้การชุมนุมโดยสันติกลายเป็นความรุนแรง
บีบีซี ไทย
2 มิถุนายน 2563 ( 07:35 )
296
1
ประท้วงในอเมริกา : ปัจจัยอะไรทำให้การชุมนุมโดยสันติกลายเป็นความรุนแรง

Reuters
รถตำรวจในหลายเมือง รวมถึงนครนิวยอ์ก ถูกจุดไฟเผา

โดย เฮอลี่เอ้อ เฉิง

บีบีซีนิวส์, กรุงวอชิงตันดีซี

การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน จากการใช้ความรุนแรงจับกุมโดยตำรวจผิวขาว ทำให้เกิดการประท้วงไปทั่วสหรัฐฯ และมีการประกาศเคอร์ฟิวในเกือบ 40 เมือง

 

การชุมนุมส่วนใหญ่เริ่มต้นอย่างสันติ แต่หลายกรณีก็ทวีความรุนแรงขึ้น โดยผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจ จุดไฟเผารถตำรวจ เข้าทำลายอาคาร และปล้นร้านรวง และขณะนี้ทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์ชาติ 5,000 นาย ไปยัง 15 รัฐทั่วประเทศรวมถึงกรุงวอชิงตันดีซี

 

ผู้เชี่ยวชาญเปรียบเทียบเหตุการณ์นี้กับเหตุจลาจลในอังกฤษเมื่อปี 2011 เมื่อการประท้วงอย่างสันติเรื่องชายคนหนึ่งที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตกลายเป็นการก่อจลาจลนาน 4 วัน ซึ่งมีทั้งการปล้นร้านรวงและจุดไฟเผาตึกอาคารไปทั่ว

 

เหตุใดการประท้วงถึงขยายเป็นวงกว้างรวดเร็ว และทำไมหลายกรณีจึงกลายเป็นเหตุรุนแรง

ศ. คลิฟฟอร์ด สต็อตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมมวลชนและการควบคุมฝูงชนของตำรวจ จากมหาวิทยาลัยคีล ในอังกฤษ บอกว่า เหตุการณ์เช่นการเสียชีวิตของนายฟลอยด์เป็นตัวจุดความรุนแรง ได้เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของประสบการณ์ร่วมของคนหมู่มากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจและกลุ่มคนผิวสี

 

ศ.สต็อตต์ ศึกษาเหตุการณ์จลาจลในอังกฤษเมื่อปี 2011 อย่างลงลึก เขาพบว่าการจลาจลขยายวงกว้างไปหลายเมือง เพราะผู้ประท้วงเมืองอื่น ๆ รู้สึกถึงความ เป็นพวกเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ หรือความรู้สึกเกลียดตำรวจ

 

ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์ดูเหมือนว่าตำรวจรับมือไม่ไหว ผู้ก่อจลาจลในที่ต่าง ๆ ก็รู้สึกมีพลังอำนาจขึ้นมาที่จะออกไปตามท้องถนนบ้าง

 

การตอบโต้ของตำรวจเป็นปัจจัยสำคัญ

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การประท้วงรุนแรงมักจะไม่เกิดในที่ ๆ ตำรวจมีความสัมพันธ์อันดีกับประชาชน แต่ที่สำคัญเช่นกันคือตำรวจรับมือและตอบโต้ผู้ประท้วงอย่างไรขณะเกิดเหตุ

"การจลาจลเป็นผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ หมายความว่าตำรวจบริหารจัดการฝูงชนอย่างไรนั่นเอง" ศ.สต็อตต์ กล่าว

ยกตัวอย่างเช่น ในการประท้วงขนาดใหญ่ ความตึงเครียดอาจเริ่มจากการปะทะของคนไม่กี่คนเท่านั้นกับตำรวจ

 

Getty Images
ที่เมืองมินนีแอโปลิส มีการจุดไฟเผาอาคาร รถยนต์ และเข้าฉกชิงทรัพย์ในร้านค้าต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี ศ.สต็อตต์ บอกว่าตำรวจตอบโต้กลุ่มผู้ประท้วงแบบรวม ๆ ไม่ได้เป็นรายบุคคล และหากคนรู้สึกว่าตำรวจใช้ความรุนแรงเกินควร ก็จะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งฝ่ายเป็น "พวกเรากับพวกมัน" มากขึ้น

 

นี่อาจทำให้คนรู้สึกว่าสมเหตุสมผลที่จะใช้ความรุนแรงโต้กลับเช่นกัน

ศาสตราจารย์ดาร์แนล ฮันต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส หรือ UCLA บอกว่า การที่ทางการส่งกองกำลังพิทักษ์ชาติไปควบคุมฝูงชน ใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และสเปรย์พริกไทย ยิ่งทำให้สถานการณ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้วยิ่งแย่เข้าไปใหญ่

 

นี่เป็นรูปแบบที่เห็นมาแล้วทั่วโลก อย่างเช่นที่ฮ่องกงก็เริ่มด้วยการประท้วงอย่างสันติเช่นกัน

 

Reuters
ที่เขตบรูกลินในนครนิวยอร์ก ผู้ประท้วงขว้างปาสิ่งของปะทะกับตำรวจ จุดไฟและทำลายรถตำรวจ

ขึ้นอยู่กับประเด็นที่คุณกำลังต่อสู้

จิตวิทยาด้านศีลธรรมอาจอธิบายได้ว่าทำไมการประท้วงอย่างสันติถึงได้กลายเป็นรุนแรง

มาร์ลูน มูจิแมน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์การ ที่มหาวิทยาลัยไรซ์ ในรัฐเท็กซัส บอกว่า ศีลธรรมส่วนบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญว่าแต่ละคนมองตัวเองอย่างไร ดังนั้น "เมื่อเราเห็นว่ามีบางอย่างที่ผิดศีลธรรม จะเกิดความรู้สึกรุนแรง เพราะเราเห็นว่าความเข้าใจของเราเรื่องศีลธรรมต้องได้รับการปกป้อง"

และความรู้สึกนี้ก็ทำให้คนมองข้ามเรื่องการรักษาความสงบไป ยกตัวอย่างเช่น หากคนเชื่อว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดศีลธรรม คน ๆ นั้นก็อาจจะรู้สึกว่าโอเคที่จะวางระเบิดคลินิกทำแท้ง

 

การปล้นร้านหรือทำลายอาคารอย่างมีนัยยะ

ศ.สต็อตต์ บอกว่า เป็นเรื่องง่ายที่คนเราจะตั้งสมมติฐานว่า พฤติกรรมคนก่อจลาจลทั้งหุนหันและไม่มีที่มาที่ไป แต่จริง ๆ แล้วการก่อจลาจลเป็นไปอย่างมีระบบโครงสร้าง เพราะสิ่งที่ทำมีความหมายต่อผู้ร่วมประท้วง

 

AFP
ร้านแอปเปิลในนครลอสแอนเจลิส

งานวิจัยถึงการจลาจลครั้งที่ผ่าน ๆ มาชี้ว่า ร้านที่ถูกปล้นมักเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ และการปล้นมักจะเชื่อมโยงกับความรู้สึกไม่เท่าเทียมในระบบทุนนิยม

แต่ ศ.ฮันต์ และ ศ.สต็อตต์ บอกว่าการปล้นร้านรวงขณะจลาจลซับซ้อนกว่านั้น เนื่องจากผู้ประท้วงหลายคนก็มีแรงจูงใจไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนยากคนจน หรือคนที่อยู่ในขบวนการอาชญากรรม

 

อย่างในฮ่องกง ผู้ประท้วงทำลายกระจกร้านค้า โยนระเบิดขวดใส่ตำรวจ และทำลายรูปสัญลักษณ์ฮ่องกง แต่ไม่ได้ปล้นสิ่งของ

 

ลอเรนซ์ โฮ ผู้เชี่ยวชาญด้านตำรวจและการควบคุมความสงบเรียบร้อยของฝูงชน จากมหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งฮ่องกง(Education University of Hong Kong) เชื่อว่า การประท้วงที่ฮ่องกงเป็นเรื่องพัฒนาการทางการเมืองและความรู้สึกโกรธเกรี้ยวต่อตำรวจ ไม่ใช่เรื่องความรู้สึกแบ่งแยกและความไม่เท่าเทียมทางสังคม

 

เราจะป้องกันความรุนแรงได้อย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมความสงบเรียบร้อยของฝูงชนหลายคนบอกว่า การที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องและไม่ทำเกินเหตุ และสามารถสนทนาเจรจากับผู้ประท้วงได้เป็นเรื่องสำคัญ

 

ดร.โฮ ของมหาวิทยาลัยแห่งการศึกษาแห่งฮ่องกง ก็เห็นด้วยว่าการเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเรื่องสำคัญ แต่เป็นเรื่องยากเพราะเดี๋ยวนี้การประท้วงเกิดขึ้นโดยไม่มีผู้นำ

ยิ่งไปกว่านั้น เขาบอกว่านักการเมืองยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่เข้าไปอีก ไม่ว่าจะด้วยวิธีการที่พวกเขาเลือกใช้ในการรับมือ หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ศ.ฮันต์ บอกว่า การจลาจลรอบนี้รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1968 ซึ่งเป็นช่วงหลังมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ศาสนาจารย์นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ถูกลอบสังหาร

 

เขาบอกว่า การเสียชีวิตของนายฟลอยด์ เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประเด็นเรื่อง ความเหนือกว่าของคนขาว (white supremacy) การเหยียดเชื้อชาติ และอื่น ๆ ในสหรัฐฯ ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างแท้จริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง