รีเซต

ซูเปอร์โพล เผยฝั่งหนุนรบ.เทคะแนนให้ชัชชาติ-วิโรจน์ 15% แนะใช้โอกาสที่ยังเหลือปรับปรุงยุทธศาสตร์

ซูเปอร์โพล เผยฝั่งหนุนรบ.เทคะแนนให้ชัชชาติ-วิโรจน์ 15% แนะใช้โอกาสที่ยังเหลือปรับปรุงยุทธศาสตร์
มติชน
23 พฤษภาคม 2565 ( 13:45 )
61
ซูเปอร์โพล เผยฝั่งหนุนรบ.เทคะแนนให้ชัชชาติ-วิโรจน์ 15% แนะใช้โอกาสที่ยังเหลือปรับปรุงยุทธศาสตร์

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยว่า หลังการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้คะแนนเกินหนึ่งล้านคะแนนสอดคล้องกับผลการประมาณการของ ซูเปอร์โพล ที่เผยแพร่หลังปิดหีบเลือกตั้งทันทีว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์จะได้คะแนนระหว่าง 1 ล้าน ถึง 1.5 ล้านคะแนน ที่หลาย ๆ คนมองว่าเป็นชัยชนะแบบถล่มทลายที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์และพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล สามารถเข้ายึดครองใจคนกรุงเทพฯ ที่เทคะแนนให้ แต่หากวิเคราะห์เชิงตัวเลขอย่างเดียวจะพบร่องรอยของการแบ่งขั้วที่ผ่านมาเป็นสิบปียังคงมีอยู่ ฝ่ายชนะก็จะได้ประมาณเท่า ๆ เดิมคือ 1 ล้านกว่าคะแนน

 

จะเห็นได้ว่าฝ่ายที่แพ้ในส่วนของรัฐบาลรวมคะแนนกันแล้วก็ยังมีเท่า ๆ เดิมด้วยสมการคณิตศาสตร์ขั้นต้นคือผลรวมของคะแนนฝ่ายรัฐบาลที่ได้กับคะแนนที่หายไปเพราะไม่ได้ออกไปใช้สิทธิด้วยเหตุผลบางประการ เช่น เบื่อหน่ายส่ายหัวกับการตัดสินใจส่งตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐที่ขาดความใส่ใจต่อเสียงของประชาชนและไม่ได้ใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ผ่านเครื่องมือใหม่ยุคปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัลมาตัดสินใจแต่กลับตัดสินใจแบบดั้งเดิมอิงกับอำนาจนิยมและอิทธิพลทางการเมือง รวมถึงปัญหาภาพลักษณ์ที่คนกรุงเทพมหานครรับไม่ได้ จึงทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งฝ่ายรัฐบาลจำนวนมากไม่ออกไปใช้สิทธิและบางส่วนไปเทคะแนนให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

 

ดร.นพดลกล่าวว่า ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลต้องใช้โอกาสที่ยังมีอีกไม่มาก ตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่ดี ลดละเลิกอำนาจนิยมที่ฝังอยู่ในชุดความคิด และก้าวไปข้างหน้าให้ทันต่อการทำงานตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของประชาชนแล้วคะแนนนิยมต่อรัฐบาลจะกลับมาเป็นพลังขวัญกำลังใจให้กับกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนและกลุ่มที่ไม่ต้องการให้ใครมีอำนาจมากจนเกินความสมดุล มิฉะนั้นแล้วอาจเกิดความพ่ายแพ้แบบหมดรูปของฝ่ายขั้วรัฐบาลก็เป็นได้ในการเลือกตั้งสนามใหญ่

 

เริ่มจาก เอาผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและบทเรียนที่ได้รับมาปรับปรุงการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่ดีใหม่ด้วยการลดละเลิกการตัดสินใจเชิงอำนาจนิยมและนำเสียงของประชาชนผ่านข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์มาใช้แทนกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง คนกรุงเทพมหานครจึงแสดงออกให้กลุ่มอำนาจนิยมได้เห็นเป็นบทเรียนที่ต้องรีบปรับปรุงแก้ไขขอให้ทุกท่านลองคิดดูว่า ถ้าการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ที่ผ่านมา นายสกลธี ภัททิยกุล ที่ตอนแรกอยู่ในอันดับท้ายตารางไม่มีใครพูดถึง ไม่มีคนรู้จักแต่ในระยะ 1 – 2 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้งนายสกลธี ภัททิยกุล เริ่มโดดเด่นขึ้นมาอยู่ในอันดับต้น ๆ ได้คะแนนไม่ห่างจากอันดับ 2 และ 3 นัก และลองคิดย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ที่มีข่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณสนับสนุน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้มีบทบาทสำคัญที่ช่วย 13 ชีวิตหมูป่าถ้ำหลวงและเหตุกราดยิงที่โคราช มาเป็นตัวเลือกให้คนกรุงเทพมหานครได้ดีกว่านี้ถ้ามีการตัดสินใจของผู้มีอำนาจที่ฟังเสียงของประชาชนและใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์แทนการอิงกับอำนาจนิยมและอิทธิพลทางการเมืองแบบขาดความสมดุลที่ผ่านมา

 

ต่อมาเมื่อวิเคราะห์ภาพที่ปรากฏในการรับรู้ของสาธารณชนต่อ พล.ต.อ.อัศวินฯ กับ นายสกลธีฯ สองตัวแทนกลุ่มอำนาจที่มีความสัมพันธ์กับขบวนการเปลี่ยนแปลงโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยเหตุผลของหลักธรรมาภิบาลที่ถูกบิดเบี้ยวไปในช่วงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ฯ ทำให้เกิดการรัฐประหารด้วยการสนับสนุนของกลุ่ม กปปส และอื่น ๆ ภาพซ้อนของทั้งสองท่านสะท้อนออกมาในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ทำให้ประชาชนสลัดภาพอดีตของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ไม่ออกที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากอำนาจรัฐประหาร แต่นี่ยังดีที่นายสกลธี ภัททิยกุล ปรับตัวในช่วงท้ายได้ทันกอบกู้ภาพลักษณ์ที่ดีกลับคืนมาให้ได้ด้วยพลังหนุ่มลำพังปราศจากการสนับสนุนของรัฐบาลทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงนายสกลธี ภัททิยกุลเป็นคนเก่งคิดต่อสู้ได้ด้วยตนเองจนขึ้นมาจากอันดับท้ายตารางสู่อันดับต้น ๆ ได้ ทำให้ผมนึกถึงข้อความที่เคยถกกันในชั้นเรียนสมัยผมศึกษาหลักสูตรร่วมกับคณะนายทหารสหรัฐอเมริกาที่พูดจากันแบบอาจจะดูไม่สุภาพเมื่อแปลเป็นไทยว่า “ส่วนประสมที่ลงตัวของความฉิบหาย” อาจแลดูไม่สุภาพที่ต้องกล่าวให้เห็นภาพของความพ่ายแพ้ครั้งนี้จะได้เร่งใช้โอกาสที่มีอยู่ไม่มากดึงความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนกลับคืนมา

 

สุดท้ายมาดูสูตรประสมตัวเลขที่เกิดปรากฏการณ์ก้าวข้ามของเสียงประชาชนเชื่อมโยงระหว่างผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2562 กับ ผลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้จะพบการเทคะแนนย้ายฝั่งจากฝั่งสนับสนุนรัฐบาลไปให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร คือ เป็นบวกเพิ่ม 15% ที่ได้มาจากฝั่งรัฐบาล 14% และอื่น ๆ 1% หากผู้ใหญ่และกลุ่มการเมืองในพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เชิงยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการทางการเมืองใหม่ โอกาสที่ยังมีอีกไม่มากอาจจะหมดไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่งที่ผุดขึ้นมาเช่นกันอาจจะสะท้อนภาพอะไรบางอย่างได้ชัดเจนอีกถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองให้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ เอาไว้พิจารณา แต่อาจมีคำไม่สุภาพบ้างต้องขออภัยนั่นคือ ปรากฏการณ์เกี่ยวกับผู้คนทางการเมืองในพรรคและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เวลานี้ว่า “คนดีก็ตาย คนเก่งก็ออก ที่อยู่นะควาย” ปล่อยให้มีการจูงจมูกให้เดินเข้าพกเข้าพงกันไปขาดความเป็นอิสระของพลังยึดโยงกับประชาชนแท้จริง มีแต่อิงอิทธิพลทางการเมืองและอำนาจนิยมที่ต้องเร่งรีบทำลายกำแพงนี้เสียแล้วจะชนะใจประชาชนในโอกาสที่ยังมีอีกไม่มาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง