รีเซต

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือเครือซีพี พร้อมหารือ ทรูมันนี่ เตือนภัยประชาชน ป้องกันโจรไซเบอร์ต่อเนื่อง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือเครือซีพี พร้อมหารือ ทรูมันนี่ เตือนภัยประชาชน  ป้องกันโจรไซเบอร์ต่อเนื่อง
TNN ช่อง16
15 มิถุนายน 2566 ( 18:35 )
82
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือเครือซีพี พร้อมหารือ ทรูมันนี่ เตือนภัยประชาชน  ป้องกันโจรไซเบอร์ต่อเนื่อง

   

  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด  ร่วมหารือพร้อมนําเสนอแผนช่วยป้องกันภัยทุจริตทางการเงินและแอปดูดเงิน พร้อมช่วยเหยื่ออย่างทันท่วงที  
  • ทรูมันนี่ เตรียมสนับสนุนเทคโนโลยีในการทำระบบฐานข้อมูลกลางเพื่ออำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลหรือตรวจสอบข้อมูลของบุคคลที่กระทำความผิดทางการเงิน ที่สามารถใช้วิเคราะห์แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง  


เมื่อเร็วนี้ ๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมหารือกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ถึงความคืบหน้าโครงการ “ไซเบอร์วัคซีน”  เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งนอกจะมีการร่วมผลิตและเผยแพร่ข้อมูลความรู้กลโกงในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารของเครือซีพีซึ่งมีธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อเตือนภัยทุจริตทางการเงินบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นวัคซีนที่ใช้เป็นภูมิคุ้มกันให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันและรับมือมิจฉาชีพได้โดยไม่ตกเป็นเหยื่อแล้วนั้น ล่าสุด บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ประกาศพร้อมให้การสนับสนุนด้านระบบและเทคโนโลยี เพื่อช่วยป้องกันประชาชนจากการตกเป็นเหยื่อถูกทุจริตทางการเงินโดยมิจฉาชีพ 


โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยว่ารอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 - 20 พ.ค. 2566) สถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1. คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2. คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3. คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4. คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) และ 5. คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์


ด้านนายอธิปัตย์ พลอยพรายแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบทุจริต บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด  เปิดเผยว่า ทรูมันนี่ ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความตระหนักถึงภัยออนไลน์ที่ถือว่าสร้างความกังวลและความกลัวให้กับผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกรรมบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทรูมันนี่ได้นำเสนอแนวทางเพื่อช่วยเหลือในการติดตามผู้กระทำความผิด หรือกลุ่มของมิจฉาชีพกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ทั้งนี้ ทรูมันนี่ เตรียมเตรียมสนับสนุนเทคโนโลยีในการทำระบบฐานข้อมูลกลาง (Pool Database) เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูล และตรวจสอบข้อมูลของบุคคลที่กระทำความผิดด้านการเงิน ที่สามารถใช้ตรวจสอบและวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง   โดยหากระบบดังกล่าวแล้วเสร็จ ก็จะช่วยมอบการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมในรูปแบบใหม่แก่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงองค์กรอื่นๆ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพเป็นอย่างมากนอกจากนี้ ทรูมันนี่ยังมีแผนจัดสัมมนาโดยได้ความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  เพื่อสร้างความตระหนักรู้และยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ให้กับประชาชนอีกด้วย


โดยที่ผ่านมา ทรูมันนี่ ได้ยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยให้เข้มงวดมากขึ้นตลอดเส้นทางการทำธุรกรรม  ด้วยการกำหนดให้ใช้ฟีเจอร์สแกนหน้าเพื่ออนุมัติรายการโอนและถอนเงินตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา


โดยก่อนหน้านี้ ทรูมันนี่ ได้พัฒนาและนำระบบสแกนหน้าที่ใช้เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ (Biometric) หรือการอ่านข้อมูลชีวมิติเพื่อตรวจจับอัตลักษณ์บุคคล ที่พัฒนาร่วมกับบริษัท ZOLOZ ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชันและเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนแบบ Biometric ระดับโลก มาใช้ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2565 เพื่อเสริมฟีเจอร์และบริการด้านความปลอดภัยที่ครอบคลุมหลากหลายการใช้งานของทรูมันนี่ 


โดยในระบบความปลอดภัย TrueMoney Secure ในปัจจุบันนั้นครอบคลุมถึงการเรียกยืนยันตัวตนผ่านระบบสแกนใบหน้าเมื่อมีการใช้งานบัญชีบนอุปกรณ์ใหม่ และเมื่อระบบตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติ, การตรวจสอบ แจ้งเตือน และหยุดธุรกรรมแปลกปลอมในทันที,  การแจ้งเตือนและปิดกั้นการล็อกอินแบบรีโมทจากอุปกรณ์อื่น เพื่อป้องกันมิจฉาชีพที่สวมรอยเข้าถึงอุปกรณ์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บัญชี  และให้บริการสายด่วน 1240 กด 6 รับแจ้งเหตุต้องสงสัยด้านภัยทางการเงิน และแจ้งอายัดบัญชี ตลอด 24 ชั่วโมง


ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หากสงสัยเกรงจะตกเป็นเหยื่อ สามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือศูนย์ PCT 081-866-3000 ทั้งนี้ ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง