รีเซต

สธ.ไฟเขียวลดกักตัวโควิดเหลือ 7 วัน ทุกประเทศ ชง ศบค.เปิดเที่ยวหัวหิน-ชะอำ ต.ค.นี้

สธ.ไฟเขียวลดกักตัวโควิดเหลือ 7 วัน ทุกประเทศ ชง ศบค.เปิดเที่ยวหัวหิน-ชะอำ ต.ค.นี้
มติชน
23 กันยายน 2564 ( 14:03 )
63
สธ.ไฟเขียวลดกักตัวโควิดเหลือ 7 วัน ทุกประเทศ ชง ศบค.เปิดเที่ยวหัวหิน-ชะอำ ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 9/2564 ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธาน ว่า ในฐานะฝ่ายเลขานุการการประชุม ได้สรุปผลการประชุมในประเด็นสำคัญหลายเรื่อง ได้แก่

 

 

1.ที่ประชุมรับทราบการให้วัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กนักเรียนที่อายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดเรียนของเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปในสถานศึกษา โดยมีนักเรียนที่เข้าข่ายในการให้วัคซีน รวม 4.5 ล้านคน โดยวัคซีนที่ใช้คือ วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้การรับรองว่าใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ และอีกตัวหนึ่งคือ วัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา

 

 

2.รับทราบแผนให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 โดยมีเป้าหมายให้วัคซีนกับประชาชนโดยความสมัครใจ ขณะนี้มีวัคซีนตามแผนในการจัดหา 125 ล้านโดส และคาดว่าจะฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมตามกลุ่มเป้าหมายในเดือนธันวาคมนี้ รวมถึงที่เคยบอกว่าจะฉีดครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

 

 

“แต่ถ้าเกิดตามแผนใหม่คือ ฉีดวัคซีนเข็มแรกได้มากกว่าร้อยละ 70 ซึ่งจะเป็นผลดี และจะพยายามครอบคลุมให้ได้มากและเร็วที่สุด รวมถึงกลุ่มเสี่ยงต่างๆ” นพ.โอภาสกล่าว และว่า 3.รับทราบความคืบหน้าการเสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ. … ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการแล้ว สาระสำคัญมีการกำหนดระบบและกลไกในการจัดการโรคติดต่อทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และเพิ่มหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อเป็นเอกภาพ ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขั้นตอนต่อไป จะเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่ง สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีความพร้อมหลังจากที่กฎหมายประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

 

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า 4.เห็นชอบปรับมาตรการผู้เดินทางมาในราชอาณาจักร หรือ การลดวันกักตัวจากเดิมที่กำหนด 14 วัน รวมถึงตรวจหาเชื้อด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) วันนี้มีความเห็นชอบลดวันกักตัวเหลือ 7, 10 และ 14 วัน ตามกรณีดังนี้ 1.ผู้เดินทางทุกช่องทาง ทั้งทางบก และทางอากาศ ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม หรือตามโดสที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด ซึ่งปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังยืนยันว่าการฉีด 2 เข็ม ยังมีความปลอดภัย

 

 

ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนมาระยะหนึ่งแล้ว ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ ผลตรวจหาเชื้ออาร์ที-พีซีอาร์ ก่อนเดินทางเป็นลบ และเมื่อมาถึงประเทศไทยต้องตรวจอีก 2 ครั้ง คือ วันแรก และวันสุดท้ายก่อนออกจากสถานกักกันโรค (Quarantine) จะลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน

 

 

2.ผู้เดินทางช่องทางอากาศเท่านั้น แต่ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้ตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ก่อนเดินทาง เมื่อมาถึงประเทศไทยต้องตรวจอีก 2 ครั้ง คือ วันแรกและวันสุดท้ายก่อนออกจากสถานกักกันโรค จะลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน และ 3.หากไม่มีการฉีดวัคซีนครบ และมาด้วยช่องทางอื่น เช่น ทางบก ก็จะกักตัว 14 วัน และตรวจหาเชื้ออาร์ที-พีซีอาร์ อีก 2 ครั้ง ระหว่างกักตัว

 

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า 5.เห็นชอบแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว โดยมีพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งขณะนี้เปิดใน จ.ภูเก็ต ในหลายจังหวัด ส่วนแผนการเปิดต่อไปจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมนี้ ในในบางพื้นที่ เช่น เพชรบุรี ชะอำ หัวหิน และพื้นที่อื่นๆ จะเป็นเดือนพฤศจิกายน 2564 ทุกอย่างเป็นไปตามแผน ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ระบาดของโรค การเจ็บป่วยของประชาชน อัตราการครองเตียง ความสามารถในการรองรับระบบสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงสถานการณ์ฉีดวัคซีนและการบริหารจัดการในพื้นที่ซึ่งจะเสนอ ศบค.พิจารณาต่อไป

 

 

นพ.โอภาสกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังได้เห็นชอบในหลักการระบบและแนวทางปฏิบัติในการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้รองรับการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันเวลา และสอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคต เนื่องจากการคาดการณ์ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่จะระบาดปีเว้นปี หรือ 1 ปี เว้น 2 ปี โดยปี 2564 มีการระบาดค่อนข้างน้อยพบผู้ป่วยไม่ถึงหมื่นราย จึงคาดว่าจะปี 2565 จะมีการระบาดรุนแรงเกิดขึ้น ฉะนั้น ที่ประชุมจึงเตรียมพร้อมและวางระบบรวมถึงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง

 

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีเครือข่ายต่างๆ คัดค้านการฉีดวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าข่ายเป็นการเอาเด็กไทยเป็นหนูทดลองให้กับวัคซีนต่างชาติ นพ.โอภาสกล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ผ่านการทดลองในเด็กแล้ว และ อย.ก็ให้การรับรองแล้ว เพราะฉะนั้น ในกรณีของวัคซีนไฟเซอร์ทั้ง อย.ไทย อย.สหรัฐอเมริกา อย.ในยุโรป และองค์การอนามัยโลก ให้การรับรองแล้วว่าสามารถฉีดในเด็กได้ เพราะฉะนั้นการให้ฉีดในเด็กไทยอายุ 12-17 ปี จึงไม่ใช่หนูทดลองแน่นอน เพราะมีผู้ที่ให้การรับรองแล้ว ส่วนวัคซีนชนิดอื่นๆ นั้นตนไม่ทราบ

 

 

เมื่อถามถึงหลักเกณฑ์การกักตัวจะใช้ดำเนินการจากผู้ที่เดินทางจากทุกประเทศต้นทาง หรือจะมีประกาศประเทศเฉพาะ นพ.โอภาสกล่าวว่า โดยหลักจะใช้เกณฑ์เดียวกันในทุกประเทศ เว้นแต่จะมีเหตุการณ์อื่นๆ เพิ่มเติม จะใช้อำนาจของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเพิ่มเติมได้

 

 

เมื่อถามว่า ประชาชนกังวลเรื่องการลดวันกักตัวเนื่องจากสายพันธุ์เดลต้าครองโลกอยู่ นพ.โอภาสกล่าวว่า คณะกรรมการวิชาการพิจารณาในหลายมิติและรอบด้าน อีกทั้ง เป็นการลดวันกักตัวแบบมีเงื่อนไข คือ ฉีดวัคซีนครบโดส และตรวจหาเชื้อก่อนเข้าประเทศ ต้องมีผลเป็นลบ และตรวจหาเชื้อซ้ำอีก มาตรการกำหนดไว้ค่อนข้างรัดกุม

 

 

“การลดวันกักตัวไม่ได้ทำให้เกิดสถานการณ์การระบาดที่มากขึ้น รวมทั้งเดลต้าในประเทศไทยมีการระบาดมากรวมถึงทั่วโลก แต่มีข้อดีทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้มากขึ้น ซึ่งมี 2 ส่วน ในเชิงสัญลักษณ์ว่า พร้อมอยู่ร่วมกับโควิด-19 คือ 1.การลดวันกักตัวจะทำให้การเดินทางระหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องท่องเที่ยว การประกอบธุรกิจ การไปเรียนศึกษาต่อ และ 2.การเปิดโรงเรียน เพราะฉะนั้นถ้าทำ 2 สิ่งนี้ได้ ก็จะเป็นตัวที่แสดงว่าสามารถควบคุมโรคโควิด-19 อยู่ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ได้แปลว่า ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย เพราะทั่วโลกยอมรับว่าเชื้อกลายพันธุ์ได้เรื่อยๆ การที่จะทำให้เชื้อหมดไปในระยะเวลาอันสั้น เป็นสิ่งยากลำบาก แต่จะปรับตัวให้อยู่ร่วมกับโรคได้อย่างไร ลดอัตราการเสียชีวิต และลดการป่วยหนัก เป็นสิ่งสำคัญที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการมีชีวิตอย่างปกติมากยิ่งขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง