นักวิทย์ร้องอนามัยโลกปรับคำแนะนำ ย้ำโควิดเป็นโรคที่แพร่กระจายทางอากาศ
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคนออกมายืนยันว่ามีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า อนุภาคขนาดเล็กมากของไวรัสโคโรนาที่ลอยอยู่ในอากาศสามารถทำให้ผู้คนติดโรคได้ พร้อมกับเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกปรับเปลี่ยนคำแนะนำในเรื่องดังกล่าวด้วย
เริ่มแรกองค์การอนามัยโลกระบุว่า ไวรัสโคโรนาแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางละอองฝอยขนาดใหญ่ (droplets) จากจมูกและปาก ซึ่งกระจายออกมาขณะที่คนไอ จาม หรือพูด
ในจดหมายเปิดผนึกที่นักวิจัยวางแผนว่าจะมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในสัปดาห์หน้าระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ 239 คนจาก 32 ประเทศ ได้สรุปว่ามีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่อนุภาคขนาดเล็กก็ยังสามารถทำให้ผู้คนติดเชื้อได้เช่นกัน
ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นละอองฝอยขนาดใหญ่ผ่านการไอจามที่ลอยอยู่ในอากาศ หรือการสูดดมอนุภาคขนาดเล็กกว่าที่ล่องลอยไปตามห้อง ก็ถือได้ว่าไวรัสโคโรนาเป็นโรคที่แพร่กระจายทางอากาศ และทำให้ผู้คนติดเชื้อผ่านการการหายใจเข้าไป
อย่างไรก็ดีนิวยอร์กไทม์สบอกด้วยว่า องค์การอนามัยโลกยังคงยืนยันว่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ว่าไวรัสโคโรนาเป็นโรคที่แพร่กระจายทางอากาศนั้นยังไม่น่าเชื่อถือเท่าใดนัก
ดอกเตอร์เบเนเดตต้า อัลเลอกรานซี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคในเรื่องการป้องกันและควบคุมการติดโรคขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้แถลงหลายครั้งแล้วว่าเราเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะติดโรคผ่านการแพร่กระจายทางอากาศ แต่ยังคงไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นชัดเจนพอที่จะสนับสนุนเรื่องดังกล่าว