รู้จัก'โรงจำนำ'ที่พึ่งยามยาก
กระแสราคาทองคำวันนี้ ที่ทุกวันปรับเพิ่มขึ้นอย่างดุเดือด หลายคนที่มีเยอะอาจจะแบ่งขายเพื่อทำกำไร แต่หลายคนก็จำเป็นต้องใช้ทองคำเพื่อจำนำ แปรสินทรัพย์เป็นทุนในยามเศรษฐกิจยุคโควิดระบาด
ภาพประกอบจาก : AFP
โรงรับจำนำ เป็นสถาบันการเงินขนาดเล็กที่พบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งชุมชน ทำหน้าที่ให้กู้ยืมแก่ประชาชนทั่วไป โดยมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ซึ่งสามารถรับจำนำสิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งของใหม่และของที่ใช้แล้ว จะมีระยะเวลาในการไถ่ถอนคืนตามที่กำหนดพร้อมดอกเบี้ย โรงรับจำนำมีอยู่ 3 ประเภท ตามลักษณะของผู้ดำเนินงาน คือ
- โรงรับจำนำเอกชน
โรงรับจำนำของเอกชนใช้เงินทุนของผู้เป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนและเงินจากการกู้ยืมมาใช้ดำเนินการรับจำนำ ปัจจุบันมีกว่า 500 แห่ง
- โรงรับจำนำ : สถานธนานุเคราะห์
เรียกว่า สถานธนานุเคราะห์ มีอยู่จำนวน 39 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการบริหารภายใต้สำนักงานธนานุเคราะห์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถานธนานุเคราะห์ได้เงินทุนจากงบประมาณซึ่งรัฐบาลจัดสรรให้ รวมทั้งเงินกำไรสะสมและเงินกู้จากธนาคารออมสิน
- โรงรับจำนำ : สถานธนานุบาล
ดำเนินการโดยเทศบาลหรือกรุงเทพมหานคร (กทม) เรียกว่า สถานธนานุบาล ในกรุงเทพฯ เริ่มต้นก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี 2503 เดิมเรียกว่าสถานธนานุบาลนครหลวง รับผิดชอบโดยกระทรวงมหาดไทย ต่อมา 2516 โอนให้ทางกรุงเทพมหานครดำเนินการ ปัจจุบันสถานธนานุบาล ในกรุงเทพฯ มีจำนวน 21 แห่ง ส่วนในต่างจังหวัด มีอยู่ 240 แห่ง บริหารงานโดยสำนักงานเทศบาลในแต่ละท้องถิ่น สถานธนานุบาลได้เงินอุดหนุนจากเทศบาลและเงินกู้จากกองทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล
กล่าวได้ว่า โรงงรับจำนำทั้ง 3 ประเภท เป็นสถานบันการเงินที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยนิยมกู้ไปเพื่อการบริโภคและเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการค้าเล็กๆ น้อยๆ เรียกว่าเป็น “ธนาคารประชาชน” เคียงคู่ทุกคนในยามยาก
ประวัติการก่อตั้งโรงรับจำนำ
การก่อตั้งโรงรับจำนำของรัฐ ได้จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2498 ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ปัจจุบัน สำนักงานธนานุเคราะห์มีทั้งหมด 39 แห่ง ตั้งอยู่ ในเขตต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 29 แห่ง ปริมณฑล 4 แห่ง คือ จังหวัด นนทบุรี และ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ และส่วนภูมิภาค 6 แห่ง คือ จังหวัดระยอง จังหวัดลำพูน จังหวัดอุดร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ จังหวัดพิษณุโลก
ก่อนหน้านั้น มีข้อมูลเป็นไปได้ว่า โรงรับจำนำแห่งแรก ชื่อว่า “โรงรับจำนำสำราญราษฎร์” มีเจ้าของเป็นชาวจีนชื่อ “ฮง” เปิดขึ้นในปี 2404 หรือสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่ย่านประตูผี สำราญราษฎร์ ส่วนอีกกระแสมีข้อมูลว่า นายเล็ก โทณะวณิก ได้ก่อตั้งโรงจำนำโรงแห่งแรกขึ้นทบริเวณถนนพาหุรัต แต่ได้เลิกเลิกกิจการไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ มีอีกหลักฐานระบุว่า โรงรับจำนำอาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยพบว่ามีพระราชกำหนดที่ออกสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปี 2284 ห้ามไม่ให้นำสิ่งของออกมาจำนำในเวลากลางคืน เพราะเกรงว่าจะเกิดการลักขโมยกันได้ง่ายในยามวิกาล.
บทความที่เกี่ยวข้อง : ชำแหละทองปลอม 6 ประเภทแบบฉบับโรงรับจำนำ