รีเซต

“หลานตาของนาซี” เรื่องจริงที่ปวดร้าวของนักเขียนชาวอเมริกัน-ลิทัวเนีย

“หลานตาของนาซี” เรื่องจริงที่ปวดร้าวของนักเขียนชาวอเมริกัน-ลิทัวเนีย
ข่าวสด
22 มิถุนายน 2564 ( 22:01 )
78
“หลานตาของนาซี” เรื่องจริงที่ปวดร้าวของนักเขียนชาวอเมริกัน-ลิทัวเนีย

 

ซิลเวีย ฟูตี ไม่เคยได้พบตาของเธอ

 

สำหรับชาวลิทัวเนียจำนวนมาก โยนัส นอเรกา ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษผู้ต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์โซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเขาเสียชีวิตลงก่อนที่ซิลเวียจะเกิด

 

 

เขาเป็นผู้นำทหารอาสา ผู้ว่าการรัฐ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้ยึดมั่นในแนวคิดชาตินิยม

 

ตอนซิลเวียตัดสินใจเขียนชีวประวัติของตา ซึ่งแม่ผู้ล่วงลับของเธอได้เริ่มเขียนไว้ให้แล้วเสร็จ เธอไม่เคยคาดคิดว่าจะได้ค้นพบกับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอไปตลอดกาล

 

 

 

 

"ฉันไม่เคยล่วงรู้อดีตอันดำมืดของคุณตา"

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ซิลเวีย ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเขียนที่ทำงานอยู่ในนครชิคาโก ของสหรัฐฯ ได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับความกล้าหาญของตาของเธอในการปกป้องประเทศชาติ

 

เธอเติบโตมาในอเมริกา และภาคภูมิใจกับความเป็นชาวลิทัวเนีย และผลงานของคุณตาเธอ

 

 

แม่และยายเล่าให้เธอฟังว่าตาถูกสังหารเพราะขัดขืนโซเวียตที่เข้ารุกรานลิทัวเนียในปี 1947

 

 

วีรกรรมดังกล่าวทำให้ชื่อของเขาถูกนำไปตั้งเป็นชื่อโรงเรียน และถนนหลายสายในลิทัวเนีย รวมถึงมีการติดตั้งแผ่นจารึกชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาด้วย

 

 

แต่ครั้งหนึ่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ตั้งชื่อตามตาของเธอได้ "พูดเปรย ๆ" ให้เธอฟังว่า "ตาของคุณถูกกล่าวหาว่าสังหารชาวยิว"

 

 

"ฉันลมแทบจับเลย ตอนที่เขาพูดแบบนั้น เพราะมันเป็นครั้งแรกที่ฉันได้ยินมา" ซิลเวีย ยังจำความรู้สึกในวันนั้นได้ดี

s

 

 

ตอนนั้นซิลเวียอายุ 38 ปี "แม่และยายของฉันเพิ่งเสีย"

"ฉันคิดว่าจะได้เขียนเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับคุณตา ฉันไม่เคยล่วงรู้อดีตอันดำมืดของท่าน" เธอเล่าในรายการบีบีซี ฮาร์ดทอล์ก

"ฉันคิดว่าจะได้เขียนเรื่องราวของวีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์"

สิ่งที่เธอได้ยินจากปากผู้อำนวยการโรงเรียนครั้งนั้นทำให้เธอช็อกมาก และเดาว่ามันเป็น "โฆษณาชวนเชื่อของคอมมิวนิสต์" แล้วพยายามปฏิเสธความจริงอยู่นานนับสิบปี

 

 

 

"การสังหารหมู่ชาวยิว"

ซิลเวียเล่าว่า "ฉันใช้เวลา 10 ปีในการค้นคว้าเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณตา"

ในช่วงนั้น เธอได้พบเอกสาร 30 หน้าที่ตาของเธอเป็นผู้เขียนในปี 1933 ตอนเขาอายุ 22 ปี เธอบอกว่ามันเต็มไปด้วยแนวคิดต่อต้านชาวยิวอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมถึงเนื้อหาที่ว่าทำไมชาวลิทัวเนียจึงควร "คว่ำบาตร" ชาวยิว ขณะที่ในเอกสารอื่น ๆ ก็มีหลักฐานที่ยืนยันว่าตาของเธอเป็นผู้ชื่นชอบจอมเผด็จการอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และเบนิโต มุสโสลินี

แต่สิ่งที่ทำให้เธอช็อกหนักก็คือการได้พบหลักฐานมากมายว่าตาของเธอเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ชาวยิว แม้ว่าเธอจะไม่สามารถหาหลักฐานพิสูจน์ว่าเขาได้ลงมือฆ่าคนเหล่านี้ด้วยตัวเองก็ตาม

จากหลักฐานใหม่ที่เธอค้นพบ ซิลเวียจึงตัดสินใจตั้งชื่อหนังสือของเธอว่า "หลานตาของนาซี" (The Nazi's Granddaughter)

 

 

 

 

มีชาวยิวกว่า 95% ถูกสังหารในช่วงที่กองทัพนาซีเข้ายึดครองลิทัวเนีย

ปัจจุบันซิลเวีย พร้อมด้วยกลุ่มชาวยิวในลิทัวเนียและทายาทที่อาศัยอยู่ต่างแดนได้ออกมาเรียกร้องให้ถอดชื่อตาของเธอออกจากรายชื่อวีรชนของลิทัวเนีย

 

 

แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบและนับถือ โยนัส นอเรกา ยืนกรานว่าเขาเป็นผู้ปกป้องประเทศชาติจากนาซีและรัสเซีย อีกทั้งนาซียังไม่ได้มองว่าเขาเป็นพวกเดียวกัน เพราะเขาได้ถูกจับกุมแล้วส่งตัวเข้าค่ายกักกัน ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะถูกรัสเซียสังหาร

 

 

แต่ซิลเวียบอกว่าหลักฐานที่เธอค้นพบพิสูจน์ว่าเขาเป็นฝ่ายตรงข้ามของกลุ่มต่อต้านรัสเซีย และได้สมรู้ร่วมคิดกับนาซีในปี 1941 ตอนที่เขาอายุ 30 ปี

 

 

ซิลเวียบอกว่าตาของเธอเป็นผู้สั่งการให้ขับไล่ชาวยิวออกจากบ้านเรือนของพวกเขา แล้วบังคับให้ย้ายเข้าไปอยู่ในชุมชนแออัดสำหรับชาวยิว อีกทั้งยังพบหลักฐานว่าเขาควบคุมดูแลการสังหารหมู่ชาวยิวเกือบ 2,000 คน

 

 

โดยหลักฐานมัดตัวที่เหนียวแน่นที่สุดมาจากบันทึกความทรงจำของเลขานุการของโยนัส นอเรกา ที่ระบุว่าตาของซิลเวียคือผู้สั่งการให้สังหารชาวยิว 2,000 คน

 

"ดังนั้นเขาคือพยานที่ยังมีชีวิตอยู่" ซิลเวีย กล่าว

Gra

 

 

ในระหว่างที่ซิลเวียค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับอดีตอันดำมืดของตามากขึ้นทุกขณะ เธอก็ได้พบมิตรภาพกับทายาทของผู้ตกเป็นเหยื่อของตาเธอ

แกรนต์ โกชิน ซึ่งอ้างว่าญาติอย่างน้อย 100 คนของเขาเสียชีวิตจากน้ำมือของโยนัส นอเรกา

"ผมเปิดเผยข้อมูลที่ผมค้นคว้าทั้งหมดต่อสาธารณชน และวันหนึ่งซิลเวียได้อีเมลถึงผม" แกรนต์ เล่า

"ผมไม่ไว้ใจเธอเลย...เธอโทรหาผมแล้วพูดว่า 'ฉันได้อ่านสิ่งที่คุณค้นคว้าทั้งหมด แต่คุณทำพลาดครั้งใหญ่'"

"เธอบอกว่า 'คุณยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับเหยื่อของตาฉันไปอีก 10,000 คน'"

ในเวลาต่อมาแกรนต์ได้นำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการยื่นคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป โดยได้รับการสนับสนุนที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากซิลเวีย

แกรนต์ระบุว่า โยนัส นอเรกา มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารชาวยิวเกือบ 15,000 คน จากชาวยิวที่ถูกสังหารในลิทัวเนียทั้งหมดเกือบ 220,000 คน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ทางการลิทัวเนียปฏิเสธ

 

 

s

 

 

บาดแผลในใจ

การค้นพบคววามจริงเกี่ยวกับตา ได้ทิ้งบาดแผลทางจิตใจไว้ให้แก่ซิลเวีย เธอยอมรับว่าตนเองคงจะไม่เขียนหนังสือเล่มนี้หากแม่และยายของเธอยังมีชีวิตอยู่

"มันทำลายอัตลักษณ์ความเป็นลิทัวเนียของฉันจนป่นปี้ ครั้งหนึ่งฉันเคยภาคภูมิใจที่เป็นคนลิทัวเนีย แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกละอายใจ ฉันต้องยอมรับกับความโหดร้ายนี้ ไม่ใช่แค่การที่ประเทศมีบทบาทในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (ชาวยิว) แต่การที่ยังไม่ยอมรับในเรื่องนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ตามหลอกหลอนฉันมานานหลายปี"

 

 

ซิลเวียเชื่อว่าแม่ของเธอไม่ได้รู้อะไรมากมายเกี่ยวอดีตอันดำมืดของตา เพราะตอนนั้นแม่ของเธอยังเด็กมาก และแม้เวลาต่อมาจะได้ระแคะระคายเรื่องเหล่านี้มาบ้างแต่ก็คงจะไม่อยากจะเชื่อแบบเดียวกับเธอและคนลิทัวเนียส่วนมาก

 

 

ซิลเวียบอกว่า กระบวนการไม่ยอมรับความจริงที่ยาวนานนั้น ทำให้เธอใช้เวลาถึง 20 ปีในการเขียนหนังสือเล่มนี้

แต่สำหรับยายของเธอนั้นต่างออกไป

"ยายต้องรู้แน่นอน และเมื่อฉันได้ตระหนักเรื่องนี้ ฉันก็รู้สึกว่าถูกทรยศ ผิดหวัง และสลดใจ ท่านใช้ชีวิตอยู่กับมันไปได้ยังไง"

เรื่องราวมิตรภาพระหว่างซิลเวียกับแกรนต์และประสบการณ์ที่พวกเขาได้พบกำลังจะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด

ซิลเวียบอกว่า สาเหตุที่ทำให้เธอและแกรนต์สร้างมิตรภาพนี้ขึ้นมา เป็นเพราะเธอคือหนึ่งในชาวลิทัวเนียคนแรก ๆ ที่แกรนต์ได้รู้จัก และพร้อมจะร่วมมือกันตรวจสอบเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในประเทศของตัวเอง อีกทั้งยังเชื่อว่าคนลิทัวเนียมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์นี้

"ชาวลิทัวเนียจะต้องออกมายอมรับผิดกับบทบาทในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และเลิกปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ แม้ว่ามันจะไม่ช่วยให้เหยื่อฟื้นคืนกลับมา...แต่ก็จะช่วยรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับพวกเขา อย่างที่พวกเขาสมควรได้รับการจดจำ"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง