รีเซต

รู้จักบัตร EMV เริ่มใช้ทางด่วน 5 เส้นทาง รายละเอียดเป็นอย่างไรไปดูกัน!!

รู้จักบัตร EMV เริ่มใช้ทางด่วน 5 เส้นทาง รายละเอียดเป็นอย่างไรไปดูกัน!!
มติชน
16 ธันวาคม 2564 ( 15:04 )
131

หลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้มีการคิกออฟ การใช้ระบบชำระค่าผ่านทางด้วยเทคโนโลยี EMV Contactless (Europay Mastercard and Visa) ไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่า EMV คืออะไร ในครั้งนี้ ‘มติชนออนไลน์’ จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับระบบนี้ให้มากขึ้น เพื่อการเดินทางที่คล่องตัวมากขึ้น

 

‘EMV’ ย่อมาจาก Europay, MasterCard และ Visa ซึ่งร่วมกันกำหนดมาตรฐานสำหรับการทำงานระหว่างกันของบัตรที่มี IC Chip อาทิ บัตรเครดิต กับเครื่อง Terminal อาทิ เครื่องรูดบัตร หรือตู้ ATM ซึ่งต่อมาบัตรเครดิตค่ายอื่นๆ ก็เข้าร่วมเพิ่มขึ้นและพัฒนากลายเป็นมาตรฐานสากล สามารถพัฒนาปรับใช้เป็นบัตรเครดิต เดบิต หรือคิวร์อาร์โค้ดได้ด้วย เบื้องต้นกระทรวงคมนาคม ได้มอบให้บริษัท รถไฟฟ้าและทางด่วน จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม พิจารณาต่อยอดระบบดังกล่าวในการชำระค่าธรรมเนียมในระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่น อาทิ รถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที)​ รถเมล์ และรถไฟ ในอนาคตอีกด้วย

 

นอกจากนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ให้ข้อมูลว่า การจ่ายค่าผ่านทางด้วยเงินสดจะใช้เวลาประมาณ 9 วินาที ขณะที่จ่ายด้วยบัตร EMV ใช้เวลาประมาณ 5 วินาที ช่วยลดปัญหารถติดหน้าด่านได้ ปัจจุบันเปิดให้ใช้บริการ 5 ด่าน ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน – ปากเกร็ด) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้) และในปี 2565 จะเปิดให้ใช้บริการอีก 2 ด่าน ได้แก่ ทางด่วนบูรพาวิถี และทางด่วนฉลองรัช

 

ส่วนวิธีการติดตั้งบัตร Easy Pass ที่ถูกต้องคือ บริเวณหลังกระจกมองหลัง หรือบริเวณฟิล์มที่มีลายจุด หากฟิล์มหนาเกินมาตรฐานต้องให้ร้านประดับรถยนต์ทำการกรีดฟิล์มออกแล้วทำการติดตั้งส่วนขั้นตอนการใช้บริการ Easy Pass อันดับแรก เมื่อผู้ใช้บริการลงทะเบียนใช้บริการจะได้รับบัตร Easy Pass และบัตร Smart Card เมื่อผู้ใช้บริการผ่านช่องทาง Easy Pass อุปกรณ์ที่ช่องทางจะส่งสัญญานติดต่อกับบัตร Easy Pass เพื่อตรวจสอบข้อมูลภายในบัตร

 

หากข้อมูลถูกต้องไม้กั้นอัตโนมัติจะเปิดให้รถผ่านไปได้และ จะมีสัญญาณเสียงจากบัตร Easy Pass เพื่อแจ้งให้ผู้บริการทราบว่าการติดต่อเสร็จสมบูรณ์แล้วระบบจะทำการตัดค่าผ่านทางจากยอดเงินคงเหลือบนบัตร Easy Pass พร้อมทั้งแสดงอัตราค่าผ่านทางและยอดคงเหลือที่ป้ายบอกราคา ในกรณีที่ยอดเงินคงเหลือต่ำกว่ากำหนดคือ 200 บาท หรือแบตเตอรี่ของบัตร Easy Pass ต่ำ ระบบจะแจ้งเตือนผู้ใช้บริการที่ป้ายบอกราคา และเมื่อขับรถผ่านช่อง Easy Pass ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. เว้นระยะห่าง จากรถคันหน้าประมาณ 5 เมตร

 

นอกจากจะต้องทำความรู้จักกับระบบ EMV แล้ว อีกหนึ่งระบบที่ต้องรู้จักเช่นกันคือ ระบบ M-Flow ระบบ M-Flow คือ ระบบเก็บค่าธรรมเนียมแบบไม่มีไม้กั้น ที่ใช้เทคโนโลยี AI และระบบเทคโนโลยี Video Tolling ในการตรวจจับป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องชะลอความเร็วเมื่อเข้าสู่ด่านจ่ายเงิน สามารถวิ่งผ่านด่านได้ด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด

 

โดยระบบ M-Flow จะมีความต่างจากระบบ M-Pass/Easy Pass ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะสามารถใช้ได้กับรถทุกประเภท ที่สามารถวิ่งได้ตามกฎของมอเตอร์เวย์ ซึ่งจะเข้ามาช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง และ ลดการสัมผัสเงิน ในสังคมไร้เงินสด โดยเริ่มทดลอง 4 ด่านนำร่อง บนถนนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ด่านธัญบุรี 1 ด่านธัญบุรี 2 ด่านทับช้าง 1 และด่านทับช้าง 2

 

ผู้ที่ต้องการสมัครใช้ระบบ M-Flow จะต้องลงทะเบียนเพื่อใช้บริการ ซึ่งสามารถสมัครได้ง่าย ๆ ผ่าน 4 ช่องทาง ดังนี้ 1. WebSite : mflowthai.com 2.Mobile Application : Mflow 3. Walk in ไปจุดบริการที่กรมทางหลวงกำหนดจำนวน 5 จุด ดังนี้ กรมทางหลวง (พระราม 6 ), ด่านทับช้าง 1 ขาเข้า กม. 51+445, ด่านทับช้าง 2 ขาออก กม. 49+03, สถานที่บริการทางหลวง บางประกง 1 ขาออก กม. 49+300, สถานที่บริการทางหลวง บางประกง 2 ขาเข้า กม. 49+300 และ4. หน่วยบริการเคลื่อนที่ของกรมทางหลวง

 

จากการมาของ 2 ระบบนี้ ประชาชนต่างหวังว่าในปี 2565 ปัญหารถติดในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จะเบาบางลงไป และทำให้ประชาชนเดินทางบนทางด่วนได้สมชื่อจริงๆ เสียที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง