นักวิจัยจากสหรัฐฯ สามารถปลุกอวัยวะในหมูที่ตายไปแล้วให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง
เซลล์ (Cell) คือองค์ประกอบมูลฐานของสิ่งมีชีวิต ประกอบกันกลายเป็นอวัยวะและเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ เมื่อสิ่งมีชีวิตเสียชีวิต เซลล์ก็จะสูญเสียความสามารถในการทำงานและทำให้องค์ประกอบภายในต่าง ๆ เสื่อมสภาพและไม่สามารถทำงานได้อีก นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ในสหรัฐอเมริกา จึงได้ทดลองพัฒนาระบบที่ฟื้นฟูองค์ประกอบภายในเซลล์ของสุกรที่ตายไปแล้วเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ให้สามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้ง
กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) เคยพัฒนาระบบในลักษณะเดียวกันมาก่อนในปี 2019 โดยมีชื่อระบบว่าเบรนเอ็กซ์ (BrainEx) ซึ่งระบบนี้แสดงประสิทธิภาพในการช่วยกระตุ้นการทำงานบางส่วนของสมองสุกรที่ขาดอากาศจากการตายไปแล้วถึง 4 ชั่วโมง ได้เป็นผลสำเร็จ และในครั้งนี้ นักวิจัยได้พัฒนาระบบให้มีประสิทธิผลต่างออกไปจากเดิมอย่างมาก เพราะว่าระบบใหม่ล่าสุดนี้สามารถฟื้นฟูการทำงานของอวัยวะได้
ออร์แกนเอ็กซ์ (OrganEx) คือ ระบบใหม่ล่าสุดในการฟื้นฟูสภาพการทำงานของเซลล์จากการเสียชีวิต โดยระบบออร์แกนเอ็กซ์ (OrganEx) จะเชื่อมต่อกับระบบไหลเวียนเลือดภายในสิ่งมีชีวิต จากนั้นจะนำส่งของเหลวพิเศษเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดเพื่อให้ของเหลวพิเศษนี้แพร่ผ่านไปยังอวัยวะต่าง ๆ คล้ายกับการทดแทนระบบเลือดเดิมเพื่อปรับสมดุลไม่ให้ระบบเผาผลาญพลังงาน (Metabolism) และของเหลวนำไฟฟ้าหรืออิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ที่เป็นสารสำคัญในกระบวนการเผาผลาญพลังงานและการเต้นของหัวใจ ตลอดจนการทำงานของสมองเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการขาดเลือด ดังนั้น อวัยวะที่ควรจะหยุดทำงานจากการสูญเสียน้ำและออกซิเจน (Oxygen) เมื่อเสียชีวิตยังคงทำงานต่อไปได้ด้วยของเหลวจากระบบออร์แกนเอ็กซ์ (OrganEx)
นักวิจัยยังได้เปรียบเทียบกับเทคโนโลยีฟื้นฟูอวัยวะในปัจจุบันที่เรียกว่า ECMO (Extracorporeal Membrance Oxygenation System) ซึ่งพบว่าระบบออร์แกนเอ็กซ์ (OrganEx) มีประสิทธิภาพสูงกว่ามากในการฟื้นฟูลักษณะเดียวกัน ซโวนิเมียร์ เวอร์เซลยา (Zvonimir Vrselja) นักวิจัยในงานนี้กล่าวว่าจากการสังเกตด้วยกล้องจุลทรรศน์เปรียบเทียบเนื้อเยื่อหลังจากทดลองไปได้ 6 ชั่วโมง สรุปได้ว่าแทบไม่พบความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่ออวัยวะตัวอย่างจากสิ่งมีชีวิตและจากซากสุกรที่ตายไปแล้วแต่ได้รับการฟื้นฟูด้วยออร์แกนเอ็กซ์ (OrganEx)
นักวิจัยยังระบุด้วยว่าในการทดลองครั้งนี้ไม่พบคลื่นกระแสไฟฟ้าที่สมองในลักษณะการสั่งการหรือทำงานบางประการออกมา จึงสามารถคลายความกังวลว่างานทดลองครั้งนี้จะไม่เป็นการปลุกชีพสิ่งมีชีวิตในลักษณะที่คล้ายกับซอมบี้ (Zombie) แต่อย่างใด
การทดลองในครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่เกิดขึ้นในการทดลองกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้เชื่อว่าจะเป็นป้ายนำทางที่สำคัญในการฟื้นฟูอวัยวะของมนุษย์ที่เสียหายจากภาวะโรคหัวใจเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ในอนาคต แต่งานวิจัยครั้งนี้ยังคงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย ตลอดจนขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้กับมนุษย์ต่อไป
ที่มารูปภาพ Unsplash