เลขา สมช. ยืนยัน ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อคุมโควิด-19 ไม่ได้ใช้เพื่อห้ามการชุมนุม
กรุงเทพฯ – เลขา สมช. ชี้แจง ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 1 เดือน ถึง 31 สิงหาคม 63 เพื่อควบคุมโควิด-19 ที่สถานการณ์ทั่วโลกยังน่าเป็นห่วง แต่จะไม่ใช้ มาตรา 9 ห้ามการชุมนุม
วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงชี้แจงกรณี ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติประกาศใช้ พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั่วราชอาณาจักร ต่อไปถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 โดยยืนยันว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน จะไม่ใช้มาตรา 9 ห้ามการชุมนุม เพื่อแสดงให้เห็นว่า มีเจตนาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ยังน่าเป็นห่วง สถานการณ์โลกยังรุนแรงรายล้อมประเทศไทย อีกทั้่งจะต้องเปิดประเทศมากขึ้นด้วย แต่จะไม่มีการห้ามการชุมนุม สำหรับการชุมนุมจะใช้กฎหมายปกติ
สำหรับความจำเป็นที่ต้องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามที่ สมช.เสนอ มีดังนี้
1.จำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกัน ในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ อาทิ การควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง การจัดทำระบบติดตามตัวการกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย และมาตรการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้อง
2.จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพ มีการบูรณาการกำลังพลเรือน ตำรวจ และทหาร เข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมให้แก่ประเทศ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นมารองรับในอนาคต