รีเซต

โควิด นักวิทย์พบตัวกระตุ้นเกิดลิ่มเลือดหายากในวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

โควิด นักวิทย์พบตัวกระตุ้นเกิดลิ่มเลือดหายากในวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
ข่าวสด
2 ธันวาคม 2564 ( 20:38 )
31

โควิด - วันที่ 2 ธ.ค. บีบีซีรายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรพบ "สิ่งกระตุ้น" ที่นำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดชนิดหายากในวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า-มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแล้ว

 

คณะนักวิจัยดังกล่าวจากนครคาร์ดิฟฟ์ เมืองเอกแคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร และจากสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลที่แสดงถึงกระบวนการเกิดลิ่มเลือดข้างต้นจากโปรตีนชนิดหนึ่งในกระแสเลือดที่สามารถเชื่อมติดกับส่วนประกอบของวัคซีนดังกล่าวได้

 

ผลลัพธ์จากการเชื่อมต่อกันระหว่างโปรตีนชนิดนี้กับส่วนประกอบในวัคซีนทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ทางด้านภูมิคุ้มกันที่สามารถนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดในกระแสเลือดได้

 

ผลการศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังหลายประเทศแนะนำวัคซีนทางเลือกแทนวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดดังกล่าว เช่น ประเทศอังกฤษนั้นแนะนำเป็นของค่ายอื่นในบุคคลอายุต่ำกว่า 40 ปี

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังทำให้คณะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกระดมความพยายามศึกษาหาสาเหตุ โดยคณะนักวิจัยข้างต้นเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับงบสนับสนุนฉึกเฉินจากรัฐบาลอังกฤษเพื่อค้นหาตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดนี้ โดยมีนักวิจัยจากแอสตร้าเซนเนก้าเข้าร่วมด้วย

 

ด้านโฆษกบ.แอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า ลิ่มเลือดนั้นมีโอกาสที่จะเกิดจากการติดเชื้อมากกว่าการได้รับวัคซีน และแม้คำอธิบายต่อเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งการศึกษาที่พบยังไม่ถือว่าแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ

"การค้นพบนี้เป็นสิ่งสะท้อนถึงความพยายามของแอสตร้าเซนเนก้าอย่างต่อเนื่องในการเดินหน้าค้นหาหนทางเพื่อขจัดความเสี่ยงที่หายากนี้ออกไป" โฆษกระบุ

รายงานระบุว่า คณะนักวิทยาศาสตร์เริ่มต้นศึกษาหาสาเหตุจากข้อเท็จจริงเบื้องต้น 2 ประการ ได้แก่ ความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดนั้นเกิดขึ้นเฉพาะในวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีบางชนิด และผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือด มักมีแอนติบอดีที่ทำงานผิดปกติด้วยการเข้าโจมตีโปรตีนชนิดเกร็ดเลือดในกระแสเลือด เรียกว่า เพลตเล็ต แฟ็กเตอร์ โฟร์ (platelet factor four)

วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้านั้นใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า ไวรัล เว็กเตอร์ โดยเป็นการใช้อะดีโน่ไวรัสที่ไม่สามารถแบ่งตัวก่อโรคได้นำส่งสารพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอของไวรัสก่อโรคโควิด-19 เข้าไปยังนิวเคลียสภายในเซลล์ของผู้รับวัคซีน เพื่อกระตุ้นให้เซลล์สร้างโปรตีนหนามของไวรัสโควิด และร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อโปรตีนหนามดังกล่าวไว้ป้องกันกรณีติดเชื้อจริง

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้นักวิจัยสงสัยว่าเปลือกหุ้มของอะดีโน่ไวรัสอาจมีส่วนเกี่ยวข้องปฏิกิริยาทางด้านภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดในบางคน จึงใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนถ่ายภาพเปลือกหุ้มของไวรัสชนิดนี้ไว้โดยละเอียดถึงระดับโมเลกุล

เปลือกหุ้มอะดีโน่ไวรัสขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 100 นาโนเมตร จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (บีบีซี)

การศึกษาเปลือกหุ้มข้างต้นนำไปสู่การค้นพบว่า เปลือกหุ้มของอะดีโน่ไวรัสชนิดนี้ดึงดูดโปรตีนเกร็ดเลือดแฟ็กเตอร์ โฟร์ได้ดีเยี่ยม ราวกับแม่เหล็กที่ดูดเอาเศษโลหะมาติดตัวไว้

ศาสตราจารย์อลัน พาร์กเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ กล่าวว่า เปลือกหุ้มของอะดีโน่ไวรัสนั้นมีประจุเป็นขั้วลบที่รุนแรงมาก ขณะที่โปรตีนเกร็ดเลือดแฟ็กเตอร์ โฟร์นั้นมีประจุเป็นขั้วบวกที่รุนแรงมากเช่นกัน จึงทำให้ดึงดูดกันได้เป็นอย่างดี

"คำอธิบายนี้ทำให้เราสามารถพิสูจน์ความเชื่อมโยงระหว่างเปลือกหุ้มของอะดีโน่ไวรัสกับโปรตีนเกร็ดเลือดแฟ็กเตอร์ โฟร์ได้ ซึ่งถือเป็นจุดที่กระตุ้นให้กระบวนการถัดๆ ไป" ศ.พาร์กเกอร์ ระบุ

สำหรับกระบวนการถัดไปนั้นนักวิจัยคาดว่าน่าจะเป็นภูมิคุ้มกันผิดที่ (misplaced immunity) แต่ยังเป็นเพียงสมมติฐานที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์

สมมติฐานดังกล่าว คือ การที่ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มโจมตีทำลายโปรตีนเกร็ดเลือดแฟ็กเตอร์ โฟร์ เนื่องจากสับสนว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา (อะดีโน่ไวรัส) ร่างกายจึงปล่อยแอนติบอดีเข้าสู่กระแสเลือดกระทั่งเข้าไปสุมรวมกันกับเป้าหมายจนนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือด

ขั้นตอนการเกิด VITT ตามสมมติฐานของคณะนักวิจัย (บีบีซี)

อย่างไรก็ตาม สมมติฐานนี้ต้องอาศัยความบังเอิญที่โชคไม่ได้หลายเรื่อง ซึ่งอาจเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดการเกิดลิ่มเลือดข้างต้นจึงหาพบได้ยากมาก เรียกว่า "ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำจากวัคซีน" (Vaccine-Induced immune Thrombotic Thrombocytopenia) หรือ VITT

ภาวะดังกล่าวเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 73 ราย จากที่ฉีดไปแล้วเกือบ 50 ล้านโดสทั่วยูเค

"สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่ไม่มีทางพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ และโอกาสของมันก็น้อยอย่างมาก สำคัญคือเราต้องไม่ลืมภาพใหญ่ด้วยว่าวัคซีนนี้ช่วยชีวิตคนไว้มากมายเพียงใด" ศ.พาร์กเกอร์ระบุ

ด้านแอสตร้าเซนเนก้าคาดว่า วัคซีนของบริษัทนั้นช่วยชีวิตคนไว้ได้กว่า 1 ล้านคน และป้องกันคนอีกกว่า 50 ล้านคนจากการติดไวรัสชนิดนี้ ขณะที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้นปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อเรื่องนี้

นายแพทย์ วิลล์ เลสเตอร์ ที่ปรึกษาเชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม กล่าวแสเดงความชื่นชมผลการศึกษาดังกล่าวมีความละเอียดอย่างมาก และช่วยอธิบายขั้นแรกของการเกิด VITT

"แต่คำถามยังมีอีกมากครับ เช่นว่า แต่ละคนนั้นมีความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกันไปหรือไม่เพียงใด และทำไมการเกิดลิ่มเลือดที่ว่านี้มักพบในเส้นเลือดที่สมองและตับเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าคำตอบนั้นมีแน่นอน แต่ต้องอาศัยเวลาและการศึกษาต่อไป" นพ.เลสเตอร์ กล่าว

สำหรับผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสาร Science Advances โดยทางคณะผู้วิจัยหวังว่าจะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเทคโนโลยีวัคซีนไวรัลเว็กเตอร์ที่ใช้อะดีโน่ไวรัสเป็นเว็กเตอร์ได้ในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง