รีเซต

สธ.จับคู่คลินิกแล็บเอกชนกทม. ช่วยหาเตียงโควิด ใครปฏิเสธรักษาส่ง191ไปรับ

สธ.จับคู่คลินิกแล็บเอกชนกทม. ช่วยหาเตียงโควิด ใครปฏิเสธรักษาส่ง191ไปรับ
ข่าวสด
4 พฤษภาคม 2564 ( 01:17 )
129
สธ.จับคู่คลินิกแล็บเอกชนกทม. ช่วยหาเตียงโควิด ใครปฏิเสธรักษาส่ง191ไปรับ

 

สธ.จับคู่คลินิกแล็บเอกชน รายงานพบผลบวกเข้าระบบใน 3 ชั่วโมง มี 1668 ประสานหาเตียงให้ คนปฏิเสธการรักษา หากอยู่ในระยะแพร่เชื้อ ประสาน 191 รับเข้ารักษา "สาธิต" ห่วงติดเชื้อในครอบครัวมาก ยกเคส อสม.แกลงดับ หลังลูกกลับมาเยี่ยมบ้าน

 

วันที่ 3 พ.ค.2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงกรณีแล็บเอกชนไม่ตรวจหาเชื้อโควิด 19 ว่า ตามหลักการที่ตกลงกัน คือ รพ.ไหนตรวจหาเชื้อโควิด 19 หากพบติดเชื้อต้องรับผู้ป่วยมาดูแลหรือหาเตียงให้ผู้ป่วย แต่สถานการณ์คลัสเตอร์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงหรือผู้มีความกังวลเข้าไปรับบริการในอีกช่องทาง คือ คลินิกแล็บซึ่งได้รับการอนุญาตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ข้อจำกัดคือ เมื่อพบติดเชื้อ ไม่สามารถหา รพ.เพื่อส่งไปรักษาได้ เดิมเรามีนโยบายให้แล็บพวกนี้จับคู่กับ รพ. ทั้งรัฐและเอกชน แต่เมื่อผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้แต่ละ รพ.มีสถานภาพเตียงหนาแน่นเช่นกัน กรมการแพทย์จึงประชุมกับผู้ประกอบการแล็บทั้งหมด และแก้ไขปัญหาด้วยการจับคู่กับคลินิกแล็บใน กทม.ทั้งหมด

 

"ดังนั้น คลินิกแล็บที่พบผลบวก ต้องรายงานสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองทุกกรณีทุกวัน และส่งข้อมูลให้แก่สายด่วน 1668 ด้วย เพื่อติดต่อผู้ป่วยนำเข้าสู่ระบบและประสานหาเตียงอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องกลับไปนอนรอเคว้งคว้างที่บ้าน และเสี่ยงติดเชื้อกับคนที่บ้าน เป็นการจัดการเตียงที่เพิ่มประสิทธิภาพ ร่นระยะเวลา โดย รพ.สังกัดกรมการแพทย์เข้าไปจัดการ นำเข้ารักษาเร็วที่สุด เพื่อให้พ้นจากความกังวลและแพร่ระบาดเชื้อในชุมชน เป็นความคืบหน้าจัดการเตียงได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ สายด่วน1668 ยังปรับโฉมใหม่ โดยให้เอกชนเข้ามาเป็นคอลเซ็นเตอร์หน้าบ้านรับทุกสาย และส่งข้อมูลไปหลังบ้านที่เป็นแพทย์ พยาบาลที่ให้คำแนะนำ เพื่อจัดการเตียงให้เร็วที่สุด ถือเป็น One Stop Service

 

 

นายสาธิต กล่าวต่อว่า การจัดการกับโควิด มี 4 ส่วน ซึ่งการรักษาเป็นเรื่องปลายทาง มาตรการเป็นต้นทาง แต่ต้นทางกว่านั้น คือ ขอให้ประชาชนร่วมกันป้องกันตนเองตามมาตรการสาธารณสุข เพราะตอนนี้การระบาดอยู่ในครอบครัว อย่างกรณี อสม.แกลง จ.ระยอง อายุเยอะมีโรคประจำตัว เกิดอาการเข้าข่ายสอบสวนโรคพามาตรวจ รพ.แกลง พบว่าติดเชื้อ สอบสวนโรคบอกไม่ได้ไปไหนเลย แต่พบว่า ลูกอยู่ กทม.และมาเยี่ยม ขณะนี้กำลังตรวจว่าลูกติดเชื้อหรือไม่ ซึ่ง อสม.ท่านนี้เสียชีวิตเวลา 11.00 น.ที่ผ่านมา อาการทรุดเร็วเพราะมีโรประจำตัว การติดเชื้อในครอบครัว ไปมาหาสู่ กินข้าวในครอบครัว ต้องระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะใน กทม. เราต้องป้องกันระวังตัวเองให้มากที่สุด

 

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แล็บที่มีรายงานผลเป็นบวก ต้องรายงานผลเข้าระบบภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งใน 1668 จะเห็นข้อมูลผู้ป่วย และติดต่อสอบถามกลับมีเตียงรองรับหรือไม่ บางรายอาจหา รพ.รองรับได้ แต่ถ้าไม่มีเตียงจะจัดการให้ สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าได้เตียงที่ไหน ขอว่าอย่าปฏิเสธการรักษา ขอให้มารักษาก่อน มาถึงมือแพทย์โดยไวจะปลอดภัยมากสุด ไม่ว่า รพ.สนาม ฮอสปิเทล หรือรพ.ที่รัฐกำหนดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ขอให้เชื่อมั่นในมาตรฐานสาธารณสุขที่ดูแลอย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม หากยังไม่มีเตียงจริงๆ

 

" ขอให้โทร 1668 เรามีคอลเซ็นเตอร์ หากบอกว่าขอเตียงระบบคอลเซ็นเตอร์จะโยนมาให้ 1668 ที่มีทีมแพทย์พยาบาลติดต่อกลับใน 1-2 ชั่วโมง เพื่อสอบถามอาการผู้ป่วย ตรวจแล็บที่ไหนอย่างไร เมื่อแยกได้แล้วจะจัดความต้องการด้านการรักษาไปลงกล่อง รพ.ที่เหมาะสม เช่น อาจเป็น รพ.ใกล้บ้าน ตรงตามสังกัด หรือตรงตามสิ่งที่ต้องการ จะพยายามจัดให้ และส่งรายชื่อของผู้ป่วยให้รพ.ปลายทาง เพื่อให้ติดต่อกลับไป และมีรถของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ไปรับจากบ้าน"

 

 

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวด้วยว่า จากดำเนินการช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาพบว่า ผู้โทร 1668 ประมาณ 1 พันสาย เป็นการขอเตียง 100 กว่าสาย ซึ่งสามารถจัดการให้ผู้ป่วยหาเตียงได้ทันกาล ส่วนผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษา เพราะคิดว่าดูแลตนเองได้ ทั้งนี้ หากติดต่อไปแล้วเป็นกลุ่มที่อาการดีน้อยกว่า 7 วัน แต่มีความจำเป็นต้องกักกันโรคจะประสาน 191 เชิญผู้ป่วยไม่ยินยอมรักษาเข้าสู่การรักษาให้ได้ เพราะไม่อยากให้คนอยู่ในระยะแพร่เชื้ออยู่ในชุมชน อยากให้มาอยู่กับเรา ปลอดภัย ไม่แพร่เชื้อในครอบครัวและชุมชน แต่ถ้าอาการดีมากกว่า 7 วัน อยู่ในเงื่อนไขที่ดูแลตนเองที่บ้านได้ จะมีการลงทะเบียนรับการดูแลจากทีมแพทย์พยาบาลเพื่อติดตามอาการจนกว่าจะพ้นระยะ 14 วัน ถือว่าพ้นระยะของการแพร่เชื้อ

 

"เราแบ่งผู้ป่วยเป็น 4 ระดับ คือ 1.ไม่มีอาการ 2.อาการเล็กน้อย 3.อาการปานกลาง และ 4.อาการหนักรุนแรง ซึ่งอาการหนักตอนนี้มี 900 กว่าราย โดย 200 กว่ารายใส่ท่อช่วยหายใจ ต้องดูแลในไอซียู อาจเป็นห้องความดันลบ ซึ่งมีข้อจำกัดบ้างขณะนี้ แต่อาการหนักทั่วไปปรับระบบดูแลในห้องไอซียูที่ปรับมาตรฐานให้มีความปลอดภัย ตอนนี้ขยายเตียงไอซียูได้มากขึ้นโดยไม่ต้องอยู่ในห้องความดันลบ

 

ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ได้เสียชีวิตทุกคน อย่างใส่ท่อช่วยหายใจตั้งแต่ระลอกแรกถึงวันนี้น่าจะประมาณ 400-500 ราย การเสียชีวิตก็อยู่ที่ร้อยกว่าราย สำหรับเด็กที่พบติดเชื้อมากขึ้น ก็เป็นไปตามสัดส่วนที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งอาการหนักก็มี แต่ส่วนใหญ่เป็นคนมีโรคประจำตัวหรือสูงอายุ การรักษาต้องใช้แพย์เฉพาะทางและเครื่องมือเฉพาะสำหรับเด็ก ปัจจุบัน กทม.มีสถานพยาบาลรองรับกลุ่มเด็กเพียงพอ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง