โควิด-19 : อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังวิกฤตไวรัสโคโรนาจะเป็นอย่างไร
คนนอนอาบแดดที่ชายหาดต้องมีฉากกระจกกั้นระหว่างกัน ก่อนขึ้นเครื่องบิน ต้องมีการตรวจเลือดและฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อผู้โดยสาร
อาจจะฟังดูเกินจริง แต่นี่เป็นมาตรการที่ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังพิจารณาใช้เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัยในโลกหลังยุคล็อกดาวน์
ยังเร็วเกินไปที่จะตอบได้ว่าจะมีการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้งเมื่อไหร่ อย่างอาร์เจนตินาสั่งระงับการบินไปจนถึงเดือน ก.ย. ส่วนทางการสหราชอาณาจักรบอกว่าคนคงไม่สามารถจองตั๋วไปเที่ยวไหนเร็ว ๆ นี้
การเดินทางไปต่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
นี่คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้น
สนามบิน
สนามบินหลายแห่ง รวมถึงที่กรุงลอนดอน ได้กำหนดมาตรการสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางในช่วงนี้แล้ว และก็อาจจะกำหนดใช้โดยถาวร ไม่ว่าจะเป็นการบังคับยืนห่างกันเมตรถึงสองเมตรตลอดเวลา จัดเจลล้างมือให้คนในสนามบิน
สนามบินนานาชาติฮ่องกงกำลังทดลองเครื่องฆ่าเชื้อแบบทั้งตัว ทางสนามบินบอกว่านี่จะสามารถฆ่าแบคทีเรียและไวรัสต่าง ๆ บนผิวและเสื้อผ้าได้ภายใน 40 วินาที
- ไอเอ็มเอฟ คาดวิกฤตไวรัสโคโรนาระบาดจะทำเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ในรอบเกือบ 100 ปี
- วิกฤตโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยเลวร้ายสุดนับแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540
- ธนาคารโลกคาดพิษโควิด-19 อาจฉุดเศรษฐกิจไทยตกต่ำมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย-แปซิฟิก
นอกจากนี้ทางสนามบินก็กำลังทดลองใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดที่เคลื่อนไหวไปตามที่ต่าง ๆ ในสนามบินด้วยตัวเองเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสีอัลตราไวโอเล็ต เหมือนกับที่มีการทดลองใช้หุ่นยนต์คล้ายกันในการฆ่าเชื้อไวรัสในโรงพยาบาลด้วย
สนามบินที่มีเครื่องเช็ก-อินอัตโนมัติก็จะยิ่งขอให้ผู้เดินทางพึ่งเครื่องนี้มากขึ้นเพื่อลดการมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงาน
เจมส์ ธอร์นตัน ประธานบริหารบริษัทนำเที่ยวอินเทรพิด (Intrepid) บอกว่ากระบวนการก่อนขึ้นเครื่องจะใช้เวลานานขึ้นเพราะมีมาตรการตรวจที่เข้มงวดกว่าเก่า
"จากที่การเอาของเหลวและเครื่องมือสื่อสารออกจากกระเป๋าเป็นเรื่องปกติ ต่อไปนี้ก็จะมีการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย เป็นไปได้ว่าเราจะได้เห็นการริเริ่มใช้ "พาสปอร์ตด้านภูมิคุ้มกัน"..."
ก่อนหน้านี้ สนามบินหลายแห่งประกาศเริ่มใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางฝ่ายก็ไม่เห็นด้วย เพราะว่าคนไข้บางคนก็ไม่ได้แสดงอาการ ทำให้สนามบินหลายแห่งจะไม่ใช้มาตรการนี้
สายการบินเอมิเรตส์ เสนอการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจเร็วหรือ rapid test ให้ผู้โดยสารก่อนจะขึ้นเครื่องที่สนามบินดูไบ โดยทางสายบินบอกว่าจะรู้ผลภายใน 10 นาที
บนเครื่องบิน
ต่อไปนี้คุณคงจะต้องนึกภาพรอยยิ้มของพนักงานต้อนรับบนเครื่องเองเพราะพวกเขาน่าจะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอด คุณอาจจะยิ้มกลับ แต่พวกเขาก็จะไม่เห็นรอยยิ้มคุณเหมือนกันเพราะคุณคงต้องใส่หน้ากากด้วยตามที่หลายประเทศเริ่มแนะนำให้ใช้กันแล้ว
แต่คุณน่าจะสบายใจได้ว่าสายการบินใหญ่ ๆ จะต้องมีมาตรการทำความสะอาดอย่างถี่ถ้วนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะพับ ที่นั่ง และเข็มขัดนิรภัย
หากนั่งเครื่องสายการบินเกาหลี คุณจะพบพนักงานต้อนรับใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อหรือ PPE ทุกคน
ต่อไปนี้ คุณอาจจะไม่ต้องแบ่งพนักวางแขนกับใคร เนื่องจากสายการบินส่วนใหญ่จะไม่มีคนจองเต็มเครื่องและต้องเว้นที่นั่งคั่นกลางไว้
คริสเตียน นักบินของสายการบินทุยแอร์เวย์ส ซึ่งขอสงวนนามสกุลไว้ บอกว่า แม้ว่าจะสมเหตุสมผลที่ควรให้ผู้โดยสารนั่งห่างกันบนเครื่อง แต่นี่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปโดยปริยาย
"การต้องเสียที่นั่งไปหนึ่งส่วนสามหมายความว่าสายการบินต้องบินอย่างขาดทุน หรือไม่เราก็ย้อนกลับไปวันเก่า ๆ ที่ราคาตั๋วเครื่องบินไปกลับปารีส-นีซ อยู่ที่ 1 พันปอนด์ (กว่า 4 หมื่นบาท)"
คริสเตียนบอกว่าบางประเทศที่ต้องพึ่งการท่องเที่ยวมาก ๆ เริ่มติดต่อเจรจากับสายการบินแล้ว เขาเชื่อว่าจะเส้นทางการบินบางส่วนจะเริ่มกลับมาทำการก่อนจะจบฤดูร้อนนี้
ที่จุดหมาย
หลังจากวิกฤตนี้จบสิ้น คุณอยากจะไปเที่ยวที่ชายหาดในอิตาลีไหม แต่คุณอาจจะต้องนอนอาบแดดโดยมีฉากกระจกกั้น
"ผมเห็นภาพวาดจำลองแบบมาแล้ว" อัลฟ์ ซอนแท็ก จากสถาบันวิจัยการท่องเที่ยว กล่าว "ในอิตาลี พวกเขาคิดจะทำตามไอเดียนี้จริงๆ"
เขาบอกว่า ที่ยุโรป ผู้ประกอบการกำลังคิดหามาตรการที่จะใช้กับแขกในโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นให้เปิดโรงแรมหนึ่งแห่งเว้นอีกหนึ่งแห่ง หรือแม้แต่ให้เปิดพักห้องแบบห้องเว้นห้อง
"หากว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นเป้าหมายหลัก นั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องทำ ดูเหมือนไม่น่าจะมีการเปิดให้ใช้สระว่ายน้ำในรีสอร์ตในประเทศแถบเมติเตอร์เรเนียนได้"
เครือโรงแรม วีล่า เกล (Vila Gale) บอกว่า ทางโรงแรมได้เตรียมกักตุนเจลล้างมือและก็คิดเมนูอาหารจานเดี่ยวขึ้นมาทดแทนเมนูบุฟเฟต์แล้ว
นิโคโลส ซิปซาส อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ในกรุงเอเธนส์ เห็นด้วยว่าการกินแบบบุฟเฟ่ต์เพิ่มความเสี่ยงพาเชื้อแพร่ระบาด รวมถึงสระว่ายน้ำ บาร์ และชายหาด ด้วย
ประเทศยุโรปบางประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อย เริ่มวางแผนความร่วมมือระหว่างกันแล้ว อาทิ โครเอเชียที่บอกว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐเช็กและสโลวาเกียเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อนนี้
การเดินทางท่องเที่ยวอาจไม่เหมือนเดิมอีก
หลังการระบาดใหญ่ การเที่ยวบนเรือสำราญ ไปรีสอร์ตสกี หรือการบินเที่ยวบินยาว ๆ อาจไม่น่าสนใจเหมือนเดิม นายซอนแท็ก บอกว่า พฤติกรรมคนอาจเปลี่ยน การเดินทางในประเทศอาจทำให้คนตระหนักว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาไม่ต้องเดินทางไปเที่ยวไกลเหมือนแต่ก่อนก็ได้
จากแบบสำรวจโดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association) คนร้อยละ 60 บอกว่าจะจองตั๋วหลังควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้แล้ว 2 เดือน ส่วนร้อยละ 40 บอกว่าจะรออย่างน้อย 6 เดือน
บริษัทโบอิ้ง ซึ่งตัดพนักงานทั่วโลกถึง 10 เปอร์เซ็นต์ จากวิกฤตในครั้งนี้ บอกว่าต้องรอถึงอย่างน้อยปี 2023 กว่าที่การเดินทางทางอากาศจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับปี 2019
ไอเอจี(IAG) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ บอกว่าต้องใช้เวลาอีก "หลายปี"