รีเซต

“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” คลังอาหารของน้องๆ ร.ร.เวียงห้าววิทยา จ. เชียงราย

“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”  คลังอาหารของน้องๆ ร.ร.เวียงห้าววิทยา จ. เชียงราย
TNN ช่อง16
11 มกราคม 2566 ( 17:32 )
118
“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”  คลังอาหารของน้องๆ ร.ร.เวียงห้าววิทยา จ. เชียงราย

พื้นที่เกือบ 3 งาน บริเวณด้านหลังของ โรงเรียนเวียงห้าววิทยา ต.เวียงห้าว อ.พาน จ.เชียงราย ถูกปรับให้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้นอกห้องเรียนของนักเรียน ที่มีทั้งแปลงผักปลอดสาร และโรงเรือนเลี้ยงไก่ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” โครงการเกษตรของโรงเรียนที่นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ

ถวิล ตาสาย ผู้อำนวยการโรงเรียนเวียงห้าววิทยา เล่าถึงที่มาของการร่วมโครงการฯว่า ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้อำนวยการของ ร.ร.เวียงห้าววิทยา ตนรับหน้าที่เป็นครูผู้ดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ที่ ร.ร.บ้านดงมะดะ อ.แม่ลาว มาก่อน เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ หรือ JCC และเป็นโครงการที่มีการดำเนินงานอย่างยั่งยืน มีผลการดำเนินงานที่ดี และมีรายได้ที่สามารถสานต่อการทำโครงการได้อย่างต่อเนื่อง


"หลังจากที่รับตำแหน่งผู้อำนวยการ ร.ร.เวียงห้าววิทยา มีความตั้งใจพัฒนาโรงเรียน และเสริมสร้างทักษะพื้นฐานชีวิต โดยเฉพาะงานด้านเกษตร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักเรียนเอง และโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าว จึงสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และได้รับการพิจารณาให้เป็นหนึ่งใน 5 โรงเรียน ที่ซีพีเอฟ มูลนิธิฯ และ JCC ให้การสนับสนุนในปี 2565 ซึ่งเป็นความร่วมมือต่อเนื่องปีที่ 21 ของทั้งสามหน่วยงานในการขับเคลื่อนโครงการฯ" ผอ.ถวิล กล่าว

ปี 2565 ซึ่งเป็นปีแรกของการเริ่มต้นโครงการฯ มีการประชาพิจารณ์ร่วมกับชุมชนก่อน แล้วจึงเริ่มก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ติดตั้งอุปกรณ์การเลี้ยง นำแม่พันธุ์ไก่ไข่เข้าเลี้ยง อาหารสัตว์ และปัจจัยการเลี้ยง ทั้งหมดได้รับการสนับสนุนแบบให้เปล่าในการเลี้ยงรุ่นแรก พร้อมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญจากซีพีเอฟและมูลนิธิฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้ คำแนะนำด้านการจัดการฟาร์ม และการป้องกันโรคที่ดี รวมถึงติดตามการเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเลี้ยงไก่ไข่มีประสิทธิภาพที่ดี ต้นทุนต่ำ เพื่อทำให้โครงการมีการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องในรุ่นต่อๆไป

หลังจากเริ่มเลี้ยงไก่ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ปี 2565 จากจำนวนแม่ไก่ 100 ตัว ให้ผลผลิต 90 กว่าฟองต่อวัน นำมาเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียนชั้นอนุบาล 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 125 คน โดยที่คุณครูมอบหมายให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 รวม 18 คน  ร่วมกันดูแลและแบ่งหน้าทีรับผิดชอบ ตั้งแต่การให้อาหารไก่ เก็บผลผลิตไข่ไก่ ทำความสะอาดโรงเรือนเลี้ยงไก่ ซึ่งในแต่ละวันไข่ไก่สดจะถูกส่งตรงเข้าโรงครัวเพื่อปรุงอาหารให้นักเรียน สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง   โดยที่โรงเรียนจัดเมนูไข่ไว้ทุกวันพฤหัสบดี  โดยเฉพาะเมนู "ไข่เจียวหมูสับ" เป็นที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ ในส่วนของผลผลิตไข่ไก่ที่เหลือจากการนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับทำอาหารกลางวัน จะจำหน่ายให้กับผู้ปกครองนักเรียนและคุณครูในราคาที่ถูกกว่าราคาท้องตลาด ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนลงได้

นอกจากนี้ โรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนปลูกผักตามฤดูกาลและผักสวนครัว ตามนโยบาย "สวยงาม ทานได้" ของโรงเรียน และนำของเสียจากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ คือ มูลไก่ มาทำเป็นปุ๋ยที่ใช้ในแปลงผัก เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สอนให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งทั้งกิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่ฯ และปลูกผัก มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเข้าสู่กองทุนโครงการเกษตรของโรงเรียน

นอกจากโภชนาการที่ดีที่เด็กๆ ได้รับจากการบริโภคไข่ไก่แล้ว โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียนจากฝีมือเด็กๆ เอง และยังสามารถนำความรู้และทักษะที่ซีพีเอฟนำมาถ่ายทอดให้ มาช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการโครงการฯ ให้ดำเนินโครงการฯ ได้อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้นักเรียนและครูได้เรียนรู้หลักการทำธุรกิจจากการลงมือทำงานจริง

ด.ญ.เฟื่องฟ้า รัตนมโน หรือน้องน้ำมนต์ อายุ 10 ปี นักเรียน ชั้น ป.5 ซึ่งได้รับมอบหมายให้ร่วมรับผิดชอบโครงการฯ เล่าว่า ดีใจที่มีส่วนร่วมทำกิจกรรมนี้ เป็นโอกาสที่ทำให้ได้เรียนรู้นอกห้องเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ทั้งการให้อาหารไก่ เก็บไข่ ทำความสะอาดโรงเรือน และยังได้เปิดเพลงให้แม่ไก่ฟังเพื่อลดความเครียดและช่วยให้แม่ไก่ให้ไข่สม่ำเสมอ และทุกครั้งที่ได้ทานเมนูไข่ รู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมดูแลไก่ไข่ที่เราเลี้ยงเอง

เช่นเดียวกับ ด.ช.ปวริศ ปินตานา หรือน้องน้ำ อายุ 11 ปี นักเรียนชั้นป.6 ซึ่งสนใจการเลี้ยงไก่อยู่แล้ว บอกว่า นำความรู้และทักษะในการเลี้ยงไก่ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากพี่ๆซีพีเอฟมาใช้กับการเลี้ยงไก่ที่่บ้าน และคิดว่าสามารถนำประสบการณ์ถ่ายทอดให้กับคนในครอบครัวและชุมชนต่อไปได้ นอกจากนี้ การที่โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้ตลอดกระบวนการของการเลี้ยง  ได้ลงมือเลี้ยงไก่ไข่จริงๆ จนได้ผลผลิตไข่ไก่เพื่อส่งเข้าโรงครัว เพื่อทำเป็นเมนูอาหารกลางวันสำหรับน้องๆ และเพื่อนๆ ในโรงเรียน

ถึงแม้ว่าจะเป็นปีแรกของโรงเรียนเวียงห้าววิทยา ที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน  แต่ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 35 แล้ว ที่ซีพีเอฟ ขับเคลื่อนโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ถือได้ว่าโครงการนี้ สร้าง "คลังอาหาร" ในโรงเรียนไปแล้ว 930 โรงเรียนทั่วประเทศ ทำให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 180,000 คน เข้าถึงโปรตีนที่ดี อิ่มท้องอย่างมีคุณภาพ ซึ่ง ซีพีเอฟ มุ่งมั่นจับมือพันธมิตรเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมเยาวชนเติบโตทั้งทางร่างกาย สติปัญญา และมีโภชนาการที่ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง