รีเซต

ศบค.เร่ง ผวจ.ทั่วไทยประกาศ 4 พื้นที่ย่อยตามความเสี่ยง ขู่เคาต์ดาวน์ 7 วันอันตราย ไม่ร่วมมือใช้ยาแรง

ศบค.เร่ง ผวจ.ทั่วไทยประกาศ 4 พื้นที่ย่อยตามความเสี่ยง ขู่เคาต์ดาวน์ 7 วันอันตราย ไม่ร่วมมือใช้ยาแรง
มติชน
29 ธันวาคม 2563 ( 13:14 )
155
ศบค.เร่ง ผวจ.ทั่วไทยประกาศ 4 พื้นที่ย่อยตามความเสี่ยง ขู่เคาต์ดาวน์ 7 วันอันตราย ไม่ร่วมมือใช้ยาแรง

วันนี้ (29 ธันวาคม 2563) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพรระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวถึงมาตรการควบคุมป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการวิเคราะห์สถานการณ์ขณะนี้ จำนวนเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.การติดเชื้อจากบุคคลถึงบุคคล ซึ่งเกิดขึ้น 2 แบบ ด้วยแบบที่ 1 การเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงมีกิจกรรมเสี่ยง จะติดเป็นรายบุคคล เช่นที่รายงานไปเป็นข้าราชการใน จ.สมุทรสาคร ที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง มีโอกาสติดอยู่แล้ว แบบที่ 2 ไม่ทราบและไม่ระวังการสัมผัสผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะต้องดูแลตนเอง

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 2.การติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน มีสาเหตุจากการเข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ หากเป็นกิจกรรมที่ถูกต้อง เช่น การประชุม งานเลี้ยงสังสรรค์ แต่อาจจะถอยทิศทางลงให้ปลอดภัยขึ้น และกิจกรรมที่ลักลอบ เป็นเรื่องที่ปวดหัวใจคนไทย เช่น การเล่นพนัน มั่วสุม ปาร์ตี้ ที่ซึ่งมาแล้วเป็นภาพสีเทาๆ ดำๆ เกิดเป็นตัวเลขติดเชื้อ 2-3 หลัก เพราะตรงนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่เป็นสิ่งที่ป้องกันได้แต่ต้องมีการควบคุม

 

“เรายังใช้มาตรการเดิมที่นายกฯ ประกาศออกมา คือ 4 พื้นที่เสี่ยง ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและพื้นที่เฝ้าระวัง แต่สิ่งสำคัญที่สุด แปลงไปสู่การปฏิบัติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้ที่ได้รับมอบอำนาจตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้แบ่งส่วนพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ ภายในวันพรุ่งนี้และจะต้องประกาศออกมาในระดับของอำเภอ ตำบล ให้ได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

 

โฆษก ศบค. กล่าวว่า ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดในขณะนี้มี 3 อำเภอ ใน จ.สมุทรสาคร และกรณีใน จ.ระยอง มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดเพียง อ.เมือง โดยรอบๆ จะเป็นพื้นที่ควบคุม แต่การประกาศเป็นรายจังหวัดว่า จ.ระยอง เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ก็ไม่เป็นธรรมกับเขา ดังนั้นจะต้องระบุว่า อำเภอที่พบผู้ป่วยมากที่สุดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด อำเภอโดยรอบออกมาก็จะเป็นพื้นที่ควบคุม และห่างออกไปอีกก็จะลดความเสี่ยงไปตามลำดับ หากย่อยไปได้ถึงตำบลก็จะมีความยืนหยุ่นในการใช้ชีวิตประจำวัน

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การดำเนินการในโครงข่ายเฝ้าระวัง “รังผึ้ง” มอบให้ ศบค.มท. ขับเคลื่อน ศปก.จังหวัด ศปก.กทม. ให้มีกลไกเฝ้าระวังถึงระดับ ศปก.ตำบล โดยใช้กลไกการปกครองและสาธารณสุข คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และให้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะรับผิดชอบในการประเมิน กำหนดระดับพื้นที่สถานการณ์ โดยเน้นที่จังหวัดหรืออำเภอขึ้นมา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศให้ประชาชนรับทราบ

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า จะต้องมีชุดตรวจกำกับดูแลสถานประกอบที่มีความเสี่ยง กลุ่มมั่วสุมผิดกฎหมาย หากทราบเบาะแสพนัน มั่วสุม ให้โทร.191 ได้ทันที และกรณีบุคคลที่ทราบว่าตนเองเดินทางไปในพื้นที่พบผู้ติดเชื้อ ขอให้กักกันตนเอง เลี่ยงกันสัมผัสผู้อื่นเป็นเวลา 14 วัน ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินทางเข้าพื้นที่ที่มีการติดเชื้อและอยู่ใกล้กับข้าราชการ จ.สมุทรสาคร ซึ่งภายหลังมีผลยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ท่านก็ได้ประชุมทางไกลเข้ามาที่ สธ. ตั้งแต่เวลา 07.30 น. ท่านทำงานจากที่บ้าน เราต้องทำอย่างนี้กันทุกๆ คน หากมีประวัติชัดเจนและมีอาการป่วย ก็เข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ทันที

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขอความร่วมมือประชาชน ดำเนินการตามประเด็น เน้นย้ำมาตรการที่จะออกจากทางจังหวัดอย่างเข้มข้น โดยจะใช้เวลานี้นับไปอีก 7 วัน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เราเคยนับ 7 วันอันตราย นอกจากอุบัติเหตุแล้วการติดเชื้อก็เป็นความสำคัญ หากควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้อยู่ในขีดความสามารถที่มีทรัพยากรรองรับ เรายังคงใช้มาตรการ 4 พื้นที่ แต่หากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ เอกชนย่อหย่อน เราก็จะทบทวนมาตรการทั้งหมด

 

“เราทุกคนจะมีอิสระเสรีตามพื้นที่ ใช้ควบคุมตัวเองได้ดีก็อิสระเสรีมาก หากควบคุมเองได้น้อย พื้นที่ก็จะควบคุมสูงขึ้น เป็นสิ่งที่ขอเน้นย้ำ และสำคัญที่สุดคือ ขอความร่วมมือประชาชนร่วมมือร่วมใจกัน” โฆษก ศบค.กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง