เหลือแค่ 6 จังหวัด ยังรอด โอมิครอน กรมวิทย์ เคลียร์ เดลตาครอน แค่ปนเปื้อน
ข่าววันนี้ 10 ม.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เราตรวจโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมาเกือบ 2 เดือน ตรวจล่าสุดวันที่ 9 ม.ค.พบเพิ่มขึ้น 715 ราย ตัวเลขสะสม 5,397 ราย กระจายพบใน 71 จังหวัด เหลือเพียง 6 จังหวัดที่ยังตรวจไม่พบ คือ น่าน ตราด ชัยนาท อ่างทอง พังงา และนราธิวาส ส่วนที่พบโอมิครอนเกิน 100 ราย มี 10 จังหวัด คือ กทม. 1,820 ราย , ชลบุรี 521 ราย , ภูเก็ต 288 ราย , กาฬสินธุ์ 249 ราย , ร้อยเอ็ด 237 ราย , สมุทรปราการ 222 ราย , สุราษฎร์ธานี 199 ราย , มหาสารคาม 163 ราย , อุดรธานี 149 ราย และขอนแก่น 136 ราย โดยกลุ่มจังหวัดอีสานเป็นการติดเชื้อในพื้นที่เกือบทั้งหมด ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ติดจากคนเดินทางมาจากต่างประเทศส่วนใหญ่
ทั้งนี้ การตรวจโอมิครอนยังเป็นการตรวจในผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งหมด และผู้สัมปัสเสี่ยงโอมิครอน ทำให้ตัวเลขสัดส่วนของโอมิครอนอาจสูงเกินจริง โดยจะมีการปรับวิธีการสุ่มตรวจ โดยให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 ศูนย์สุ่มตรวจสัปดาห์ละ 140 ตัวอย่างของผู้ติดเชื้อว่าเป็นสายพันธุ์อะไร เพื่อจะได้สัดส่วนสถานการณ์จริง
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สำหรับเรื่อง "เดลตาครอน" กรมวิทย์มีการพูดคุยกับ GISAID ที่เป็นระบบฐานข้อมูลกลางโลกเป็นระยะ ซึ่งกรณีรายงานของนักวิทยาศาสตร์ประเทศไซปรัส ส่งข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวเข้ามา 24 ตัวอย่าง พบมีการกลายพันธุ์ทั้งส่วนที่เป็นเดลตาและโอมิครอนอยู่ด้วยกัน ซึ่งเมื่อเอาข้อมูลมาดูพบว่าเป็นอย่างนั้นจริง มีทั้งส่วนของเดลตาและโอมิครอน แต่ส่วนที่เป็นโอมิครอนเหมือนกันทั้งหมด ส่วนที่เป็นเดลตามีความแตกต่างกันไป ซึ่งถ้าเป็นเชื้อตัวใหม่จริงจะต้องตรวจทั้งสองฟากเหมือนกัน ไม่ใช่ตรวจแล้วฟากหนึ่งแตกต่าง เพราะตอนนี้เชื้อเดลตามีสายพันธุ์ย่อยถึง 127 สายพันธุ์แล้ว
"จากกรณีของไซปรับที่คนติดเดลตามีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกันไป แต่โอมิครอนเหมือนกันหมด นำมาสู่ข้อสรุปว่า GISIAD ยังจัดชั้นให้การค้นพบทั้ง 24 รายเป็นเดลตา ไม่ได้เป็นสายพันธุ์ใหม่ โดยโอกาสที่จะเกิดมากสุด คือ การปนเปื้อน หมายความว่าคนติดเชื้อเดลตา ซึ่งเดลตามีหลากหลายสายพันธุ์ย่อย แต่ไปปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโอมิครอนในตัวอย่างเหล่านั้น จึงพบ 2 สายพันธุ์ในตัวอย่างเดียวกัน หรืออาจเป็น Mix Infection คือ ติดทั้งสองตัวในคนเดียวกัน แต่มีโอกาสน้อยมาก ยิ่งพบถึง 24 คน ที่จะติด 2 สายพันธุ์ จึงมีโอกาสน้อย ส่วนที่จะบอกว่าเป็นไฮบริดตัวใหม่แทบจะเป็น 0 แต่จะติดตามต่อไป" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กรมวิทย์ดำเนินการสุ่มทดสอบชุดตรวจ ATK จำนวน 8 ยี่ห้อ มาทดลองตรวจเชื้อโอมิครอน ซึ่งดรมฯ เพาะเชื้อได้นั้น เมื่อเทียบกับการตรวจด้วย RT-PCR พบว่า หากเชื้อปริมาณมาก หรือค่า CT น้อย ประมาณ 20 กว่า ATK ทุกตัวสวามารถตรวจเจอทั้งหมด แต่หากค่า CT มากคือเชื้อน้อยลง ตือมากกว่า 25-26 ขึ้นไป RT-PCR ยังตรวจเจอ แต่ ATK ตรวจไม่เจอ เพระาไม่ได้ขยายสารพันธุกรรมแบบ RT-PCR ดังนั้น ATK ที่ผ่านอนุญาต อย.แล้ว ไม่มีอะไรแตกต่าง ยังตรวจโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้เหมือนปกติธรรมดากับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ และย้ำว่าไม่มี ATK ตัวไหนที่ตรวจแล้วบอกว่าเป็นโอมิครอนโดยเฉพาะ หากเห็นใครโฆษณาตรวจแยกสายพันธุ์ได้คือของเก๊