รีเซต

คาดโควิด-19จบนายจ้างเร่งรัดเข็มขัด ดึงคนกลับเข้างานลดลง

คาดโควิด-19จบนายจ้างเร่งรัดเข็มขัด ดึงคนกลับเข้างานลดลง
มติชน
6 พฤษภาคม 2563 ( 08:07 )
205

สภาองค์การนายจ้างคาดโควิด-19 จบนายจ้างเร่งรัดเข็มขัดดึงคนกลับเข้างานลดลง เปิดสมัครใจลาออกเพิ่มขึ้น เอสเอ็มอีฟื้นตัวยากหลังสภาพคล่องจะมีปัญหา ขณะที่ประชาชนจะประหยัดมากขึ้น

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จบลงมีแนวโน้มว่านายจ้างจะมีนโยบายปรับตัวที่สำคัญ 3 ด้านได้แก่ 1.ลดต้นทุนให้สอดรับกับขนาดองค์กรที่เหมาะสม หนึ่งในต้นทุนที่จะปรับคือแรงงาน หลังจบโควิด-19 คงกลับมาไม่เท่าเดิมเพราะนายจ้างจะเลือกคนมากขึ้น และจะใช้นโยบายสมัครใจลาออก(เออร์รี่รีไทร์)สูงขึ้น การมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาทำงานแทนคนเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดทั้งระบบหุ่นยนต์ ระบบออนไลน์ ฯลฯ 2. นายจ้างจะฟื้นตัวได้ยากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี)จะมีปัญหาด้านสภาพคล่องเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินต่างๆ จะเข้มงวดมากในการปล่อยสินเชื่อสูง ดังนั้นนายจ้างจะปรับตัวด้วยการตั้งทุนสำรองทางการเงินเผื่อไว้ฉุกเฉินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ซึ่งเคยมีประสบการณ์จากวิกฤติต้มยำกุ้งมาบ้างแล้ว แต่รายที่ไม่สามารถรับมือได้อาจต้องปิดตัวลง และ3.ตลาดจะไม่เหมือนเดิม การบริโภคจะชะลอตัวเพราะประชาชนจะใช้จ่ายลดลงและประหยัดมากขึ้น ดังนั้นภาคธุรกิจคงต้องปรับตัว นอกจากนี้การส่งออกก็คาดว่าจะใช้เวลาฟื้นตัว1-2 ปีทีเดียว

“เมื่อโควิดจบลง นายจ้างและลูกจ้างต้องปรับตัวกันทั้งหมด บทเรียนครั้งนี้สอนลูกจ้างใช้สอยจะระมัดระวังมากขึ้น และการบริโภคในประเทศคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ส่วนนายจ้างผ่านประสบการณ์จากหลายวิกฤตพอสมควร”นายธนิตกล่าว

นายธนิต กล่าวว่า อย่างไรก็ตามจากการที่ภาครัฐได้คลายมาตการล็อคดาวน์ให้กลับมาดำเนินกิจการได้ใน 6 กิจกรรมภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านตัดผม กิจกรรมดังกล่าวทำให้แรงงานกลับเข้ามาสู่ระบบได้ไม่เกิน 1 ล้านคน จากตัวเลขที่รัฐประเมินในการเยียวยา 16 ล้านคนและในระบบประกันสังคม1ล้านคน โดยเฉพาะร้านอาหารต้องจัดที่นั่งเว้นระยะห่าง ผู้บริโภคในร้านไม่มาก แรงงานที่เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารคงกลับมาบางส่วน นอกจากนี้แรงงานในภาคท่องเที่ยวและบริการก็ยังรอการฟิ้นตัวอีกระยะหนึ่ง

นายธนิต กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยตลอดปีนี้ยังคงน่าเป็นห่วงจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย โดยไตรมาสแรกพบว่าการส่งออกของไทยติดลบ 4.8% หากไม่รวมทองคำ ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ(จีดีพี)ไทยพึ่งพิงการส่งออกถึง 70% และภาคการผลิตไทยพึ่งตลาดส่งออกกว่า 50% ที่เหลือพึ่งตลาดในประเทศ ดังนั้นอุตสาหกรรมครึ่งปีหลังจะต้องติดตามใกล้ชิดโดยเฉพาะภาคการส่งออก โดยอุตสาหกรรมที่การส่งออกเป็นบวก อาทิ อาหาร วัสดุการแพทย์ ส่วนสินค้าคงทนยังลำบากเพราะตลาดไม่ฟื้น อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวช่วงไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัวได้ระดับหนึ่งจากการท่องเทียวภายในเป็นหลัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง