ทั่วโลกแนวโน้มโควิดลดลง เสียชีวิตคงที่ สวนทางไทยพุ่งทั้งติดเชื้อ-ป่วยหนักสูงขึ้น วอนปชช.ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
ทั่วโลกแนวโน้มโควิดลดลง เสียชีวิตคงที่ สวนทางไทยพุ่งทั้งติดเชื้อ-ป่วยหนักสูงขึ้น วอนปชช.ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ลดป่วยหนัก เข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ภาพรวมเตียงบริหารจัดการได้
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โดยพญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกวันนี้ว่า ขณะนี้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 440,641,800 ราย โดยที่วันนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 ล้านราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนักสะสม 75,859 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.02 และเสียชีวิตสะสม 5,993,043 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.36 ซึ่งถ้าดูยอดผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์ใน 20 ประเทศแรก อันดับที่ 1.เกาหลีใต้ 2.เยอรมนี ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 1 ล้านรายในช่วงระยะเวลา 7 วัน 3.รัสเซีย มีผู้ติดเชื้อสะสม 7 วัน อยู่ที่ 797,254 ราย นอกจากนี้ประเทศในทวีปเอเชียที่ติด 20 อันดับ ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 7 วัน ได้แก่ 4.เวียดนาม 5.ญี่ปุ่น 10.อินโดนีเซีย และ 15.มาเลเซีย
พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศไทยวันนี้อยู่ในอันดับที่ 18 และมีผู้ติดเชื้อสะสมราย 7 วันอยู่ที่ 163,751 ราย มีอัตราสะสมการเสียชีวิต 7 วันต่อล้านประชากรอยู่ที่ 10 ราย ซึ่งสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโอไมครอนทั่วโลก แพร่ระบาดง่าย และมีผู้ป่วยอาการหนักไม่มากเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า ทั้งนี้ ในบางประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูง ก็ได้มีการผ่อนคลาย และมีการจัดการในรูปแบบโรคประจำถิ่นได้แก่ ประเทศสเปน ประเทศอินเดีย และในสหรัฐอเมริกา เช่น รัฐแคริฟลอเนียร์ นอกจากนี้มีประเทศจีน ที่ก่อนหน้านี้มีมาตรการโควิดเป็น 0 และมีแนวโน้มจะยกเลิกและใช้มาตรการ Living With Covid-19 หรือการอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ สำหรับประเทศไทยซึ่งมีแนวโน้มว่าจะปรับมาตรการเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังต้องพิจารณาให้รอบด้านและคำนึงถึงประชาชน ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด
พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์รายวันวันนี้ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 23,618 ราย ซึ่งเป็นผลการตรวจ RT-PCR แต่ถ้ารวมผลตรวจเอทีเค เพิ่มขึ้นมาอีก 42,138 ราย โดยรวมทั้งสิ้น 65,756 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,131 ราย และ 325 ราย เป็นผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ รวมมีผู้ป่วยสะสม 734,727 ราย หายป่วยแล้ว 18,939 ราย รวมหายป่วยสะสม (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.) 543,184 ราย กำลังรับการรักษาอยู่ 223,414 ราย เสียชีวิต 49 ราย
“เนื่องจากช่องทางสายด่วน 1330 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ช่วงนี้มีประชาชนโทรเข้ามาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ทางสปสช.ได้เพิ่มกำลังคนในการรับสายจากหลายหน่วยงานมาช่วย และได้หารือในที่ประชุมศบค. เป็นต้นว่า ทหารไปช่วย และจิตอาสา ภาคประชาสังคม แต่หากผู้ติดเชื้อที่มีผลเอทีเคเป็นบวกและมีอาการรุนแรง หรือเป็นผู้ป่วยสีแดงให้รีบติดต่อสายด่วน 1669” พญ.สุมนี กล่าว
พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับการคาดการณ์ล่าสุดโดยกรมควบคุมโรค จะพบว่ายอดผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น หากยังคงมาตรการที่ปฏิบัติอยู่จะยังคงอยู่ในเส้นสีเหลือง แต่ถ้ามีการผ่อนคลายมากขึ้น หรือย่อหย่อนมาตรการส่วนบุคคล อาจขยับขึ้นไปเป็นเส้นสีแดงได้ ซึ่งคาดการณ์ยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดในช่วงกลางเม.ย.นี้ และจะลดลง และขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting จะช่วยให้ช่วงกลางเม.ย.ลดลงได้ ซึ่งถ้าจะให้ดีที่สุดจะต้องทำให้อยู่ในเส้นสีเขียว ซึ่งจะพบผู้ติดเชื้อไม่เกิน 20,000 รายต่อวัน
“สำหรับโอไมครอนส่วนใหญ่มีจำนวนผู้ป่วยปอดเสบน้อยกว่าระลอกที่ผ่านมา จึงมีการคาดการณ์ของผู้ป่วยปอดอักเสบไว้ด้วย จากเดิมที่ทำการคาดการณ์ไว้จะอยู่ที่ 5,000 รายต่อวัน แต่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโอไมครอน ผู้ป่วยปอดอักเสบจะอยู่ที่ค่าเฉลี่ยประมาณ 625 ราย ซึ่งจะเห็นว่าการคาดการณ์ที่จะพบผู้ป่วยปอดเสบสูงขึ้นในช่วงต้นเดือนพ.ค. หรือหลังสงกรานต์ ประมาณ 2 สัปดาห์” พญ.สุมนี กล่าว
พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ พบว่า อันดับ 1.กรุงเทพมหานคร 2.ชลบุรี 3.นครศรีธรรมราช 4.สมุทรปราการ 5.ระยอง 6.นนทบุรี 7.สมุทรสาคร 8.ภูเก็ต 9.ราชบุรี 10.บุรีรัมย์ ซึ่งถ้าแบ่งตามคลัสเตอร์พบว่ามีจำนวนน้อยลงแล้ว แต่ยังพบเยอะที่สุดในสถานพยาบาลซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ โดยพบมากที่สุดที่กรุงเทพมหานคร 85 ราย ชลบุรี 26 ราย สมุทรปราการ 18 ราย นราธิวาส 15 ราย ปทุมธานี 14 ราย สุราษฎร์ธานี บึงกาฬ ปัตตานี 11 ราย นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด อย่างละ 9 ราย
พญ.สุมนี กล่าวต่อว่า ถัดมาเป็นคลัสเตอร์โรงเรียนและสถานศึกษา พบที่ร้อยเอ็ด 9 ราย อยุธยา 7 ราย นอกจากนั้นพบเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ และที่พบอย่างต่อเนื่องคือในตลาด และกระจายเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ ตามจังหวัดอื่นๆ ซึ่งการติดเชื้อที่พบน้อยลงอย่างโรงงาน และสถานประกอบการมีรายงานอยู่ที่ 4 จังหวัดเท่านั้น คือ ประจวบฯ ปราจีนบุรี สมุทรปราการ และชลบุรี ส่วนคลัสเตอร์พิธรกรรมและศาสนา เจอแค่ 2 จังหวัดคือ สระแก้ว และร้อยเอ็ด ส่วนคลัสเตอร์งานแต่งเจอที่เพชรบุรี
พญ.สุมนี กล่าวอีกว่า ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบสูงที่สุด คือ 1.กรุงเทพมหานคร 178 ราย 2.สมุทรปราการ 83 ราย 3.บุรีรัมย์ 63 ราย 4.นนทบุรี 62 ราย 5.ภูเก็ต 55 ราย 6.กาญจนบุรี 35 ราย 7.สุราษฎร์ธานี 35 ราย 8.นครศรีธรรมราช 34 ราย 9.นครราชสีมา 33 รายและ 10.ชลบุรี 33 ราย และส่วนใหญ่อัตราการครองเตียงยังไม่สูง ยกเว้นจังหวัดภูเก็ต ที่มีร้อยละการครองเตียงอยู่ที่ 62.70 และโดยรวมสำหรับอัตราการครองเตียงทั่วประเทศอยู่ที่ร้อยละ 58.1 โดยที่เป็นเตียงผู้ป่วยสีเขียวร้อยละ 66.4 สีส้มร้อยละ 22.7 และสีแดงร้อยละ 22.4 ขอให้พี่น้องประชาชนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อแต่มีอาการน้อย – ไม่มีอาการ ให้เข้าสู่ระบบแยกกักรักษาแบบ HI หรือ CI เพื่อสงวนเตียงให้ผู้ป่วยสีส้ม-สีแดงให้มากขึ้น
พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต วันนี้รายงานพบ 49 ราย กว่าร้อยละ 96 เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว (โรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค) และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง ร้อยละ 4 ส่วนการได้รับวัคซีนพบว่ากว่าร้อยละ 67 ไม่ได้รับวัคซีน หรือไม่ครบโดส อีกร้อยละ 27 ได้วัคซีนครบ 2 เข็มแต่นานเกิน 3 เดือน และ 1 รายได้วัคซีน 3 เข็ม และ 2 รายที่ได้ครบ 2 เข็มไม่เกิน 3 เดือน สำหรับกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 75 ใน 928 ราย ไม่ได้รับวัคซีนเลย 557 ราย รับวัคซีนแล้ว 1 เข็ม 77 ราย รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม 271 ราย และรับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป 23 ราย ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม มีอัตราการเสียชีวิตลดลง 7 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม ดังนั้น ก่อนที่จะถึงเทศกาลสงกรานต์ขอให้ลูกหลานเชิญชวนผู้สูงอายุให้มารับวัคซีน เพื่อที่ลูกหลานจะได้กลับไปหาที่บ้านอย่างสบายใจ
“สำหรับการฉีดวัคซีนในวันนี้กับกลุ่มเป้าหมายหลัก หรือกลุ่มเสี่ยง ในผู้สูงอายุ ฉีดเข็มที่ 1 ร้อยละ 83 เข็มที่ 2 ร้อยละ 78.6 และเข็มที่ 3 ร้อยละ 30.8 ส่วนเด็กเล็ก 5-11 ปี เข็มที่ 1 ร้อยละ 15.4 และเข็มที่ 2 ร้อยละ 0.3” พญ.สุมนี กล่าวและว่า สำหรับการสรุปสถานการณ์ในวันนี้ ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อแนวโน้มลดลง เสียชีวิตคงที่ และประเทศไทยในทุกภาคมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการหนักก็เช่นกัน จึงขอความร่วมมือให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดอาการป่วยหนัก และเข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคล สำหรับการจัดการเตียงในภาพรวมนั้นอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีเด็กที่ติดเชื้อแต่มีความจำเป็นต้องสอบ จะยังสามารถเข้าสอบได้หรือไม่ พญ.สุมนี กล่าวว่า เด็กนักเรียนที่ติดเชื้อและต้องการเข้าสอบ TCAS สามารถเข้าสอบได้ โดยต้องแจ้งสนามสอบและลงทะเบียน จะต้องเป็นผู้ที่ติดเชื้อสีเขียว รวมถึงสัมผัสเสี่ยงสูง และจะมีการจัดสอบแยกพื้นที่ ลดการใกล้ชิด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และแยกรับประทานอาหาร ซึ่งผู้เข้าสอบอาจจะขอเข้าพักที่ศูนย์สอบพิเศษที่ได้จัดเตรียมไว้ให้