รีเซต

ครม.ไฟเขียวร่างกฎหมายแก้ปัญหาทับซ้อนเกณฑ์ธปท.

ครม.ไฟเขียวร่างกฎหมายแก้ปัญหาทับซ้อนเกณฑ์ธปท.
มติชน
21 เมษายน 2563 ( 15:24 )
56

ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง แก้ไขกฎกระทรวงที่ทับซ้อนกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย 7 ฉบับ

วันที่ 21 เมษายน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงแก้ไขกฎกระทรวงที่ทับซ้อนกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย รวม 7 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

 

โดยกค. เสนอว่า 1.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ธุรกิจสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป นั้น มาตรา 120/1 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialised Financial Institutions : SFIs) ถือปฏิบัติหรือปฏิบัติเพิ่มเติมจากที่กฎหมายจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้ (2) การดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์ และ (7) การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแล SFIs ในเรื่องการจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง การดำรงเงินกองทุน และการดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่องแล้ว

 

ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความเป็นมาตรฐานสากล มีความยืดหยุ่น และเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป 2.กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์การกำกับดูแล SFIs ของ ธปท. ตามข้อ 1. มีความเป็นมาตรฐานสากลและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับเพื่อมิให้หลักเกณฑ์การกำกับดูแล SFIs ทับซ้อนกัน สมควรยกเลิกหลักเกณฑ์การกำกับดูแล SFIs ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รวม 7 ฉบับ จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง รวม 7 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ

 

นางนฤมล กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2551 และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามที่ ธปท. กำหนด

 

2. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่อง ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2551 และให้ ธ.ก.ส. ดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่องตามที่ ธปท. กำหนด

 

3. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2549 และให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด

 

4. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2547 และให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด

 

5. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2547 และให้ ธอท. ดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่องตามที่ ธปท. กำหนด

 

6. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวง (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 และให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด และ 7. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2547 และให้บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง