รีเซต

เปิด 6 สาเหตุหลัก ทำไมยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น?

เปิด 6 สาเหตุหลัก ทำไมยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น?
TNN ช่อง16
18 พฤศจิกายน 2565 ( 16:22 )
71

"หมอโอภาส" เปิด 6 สาเหตุหลัก ทำไมยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น จับตาการกลายพันธุ์ของ BA.5 เป็น BQ.1 ขณะที่ "หมอยง" ชี้การระบาดในครั้งนี้ จะยาวไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ และหลังจากนั้นก็จะเริ่มลดลง


วันนี้ (18 พ.ย.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มกลับมาอีกครั้ง จากตัวเลขคนติดโควิดที่เพิ่มสูงขึ้น ล่าสุด ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอาจารย์ประจำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 

ได้ให้ข้อมูล ถึงปัจจัยหลักที่ทำให้ขณะนี้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้น

1. จากการที่มีกิจกรรมที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น บวกกับการผ่อนคลายการใส่หน้ากากอนามัย

2. จากข้อมูลศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก (สนับสนุนจาก WHO) ยังไม่พบว่ามีการกลายพันธุ์ไวรัสใหม่ จนทำให้เกิดการระบาดเพิ่ม โดย BA.5 ยังเป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด รองลงมาเป็น BA.4 และมี BA.2.75 ปนมาประมาณ 5% (ข้อมูลจนถึงต้นเดือน พ.ย.) แต่ยังคงต้องติดตามการเปลี่ยนสายพันธุ์ไปอีก

3. คนที่ติดในรอบนี้ บางคนเคยติดโควิดมาก่อน ในระลอกที่มีไวรัส delta หรือ โอไมครอน omicron BA.2 ระบาด รอบนี้ติดซ้ำ ซึ่งพบคนที่ติดซ้ำรอบนี้ประมาณ 8% คาดว่าจะมีการติดเชื้อซ้ำ ๆ ได้อีก

4. จับตาการกลายพันธุ์ของ BA.5 เป็น BQ.1 ซึ่งอาจจะลดการตอบสนองต่อ EVUSHELD คาดว่า อีกซักพักอาจจะเห็น BQ.1 เพิ่มขึ้นในประเทศ แต่ขึ้นช้า ๆ แนวโน้มอาจจะเห็นการระบาดของไวรัสหลายสายพันธุ์พร้อมกัน แต่อาการมักไม่รุนแรงในคนที่ยังมีภูมิจากวัคซีน

5. จากที่ได้มีโอกาสตรวจระดับภูมิคุ้มกันในงานวิจัย พบว่า คนที่ฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน บางคนภูมิตกลงอาจจะไม่พอป้องกัน ไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ดังนั้น คนสูงอายุที่มีความเสี่ยงโรครุนแรง น่าจะต้องรีบไปกระตุ้น เพื่อป้องกันอาการหนัก โดยเฉพาะก่อนปีใหม่ที่การระบาดมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น

6. รอบนี้คนติดที่ไม่ได้มาตรวจ อาจจะมีจำนวนมาก เนื่องจากตรวจได้เองที่บ้าน กับรักษาตามอาการได้เอง คนที่อาการรุนแรงจะยังไม่มีจำนวนมาก แต่จะค่อยสูงขึ้นช้า ๆ มีโอกาสเตียงแน่นในบางโรงพยาบาล


ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แนวโน้มคนติดโควิด พบเพิ่มสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เมื่อเข้าสู่โรคตามฤดูกาล การระบาดของโรคสำหรับประเทศไทยจะพบมากในฤดูฝน และช่วงปลายปีจนถึงต้นปี อีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับการระบาดในสมัยไข้หวัดใหญ่ 2009

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคจะลดลง ทั้งนี้ เพราะประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น จากการฉีดวัคซีน และการติดเชื้อ

สำหรับการระบาดในครั้งนี้ จะยาวไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ และหลังจากนั้นก็จะเริ่มลดลง แล้วจะไปเพิ่มอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายน ซึ่งคาดว่าในปีหน้า ประชากรเกือบทั้งหมดก็น่าจะมีภูมิต้านทานแล้ว

ดังนั้น ในขณะนี้ ถ้าไม่ได้กระตุ้นด้วยวัคซีนธรรมชาติ หรือการติดเชื้อ ก็จะกระตุ้นให้การติดเชื้ออาการแทรกซ้อน ก็จะมากกว่าการฉีดวัคซีน.



ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง