รีเซต

‘โกลเบล็ก’ เห็นแววหุ้นไทยพลิกสู่ขาลง หลังเห็นแรงกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย-ต่างชาติขนเงินออก

‘โกลเบล็ก’ เห็นแววหุ้นไทยพลิกสู่ขาลง หลังเห็นแรงกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย-ต่างชาติขนเงินออก
มติชน
22 มิถุนายน 2564 ( 09:55 )
49

 

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ ประเมินว่ามีโอกาสปรับตัวลงต่อ สาเหตุมาจากปัจจัยต่างประเทศที่เป็นตัวกดดันดัชนี ทั้งการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) เริ่มไหลออก และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางจีนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ ได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ 1 ปี รวมถึงสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษ ที่พบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มอีก 9,284 ราย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า อังกฤษอาจเกิดการระบาดรอบ 3 ขึ้นได้ และผลการวิจัยครั้งใหม่จากอังกฤษพบว่า การติดเชื้อโควิด-19 อาจทำให้เกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อสมองในระยะยาว ส่วนธนาคารกลางอินเดียได้รายงานว่า การแพร่ระบาดรอบ 2 ของโรคโควิด-19 อาจทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจของอินเดียได้รับความเสียหายสูงถึง 2.711 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปีงบประมาณ 2564 ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดับเบิ้ลยูทีไอ (WTI) ปรับย่อตัวลงกดดันตลาด จึงคาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีไว้ในกรอบระดับ 1,580-1,630 จุด

 

 

 

นางสาววิลาสินี กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การรายงานยอดขายบ้านมือสองประจำเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ของสหรัฐ การเปิดเผยรายงานการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2564 รวมถึงการเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่เดือนพฤษภาคมของสหรัฐ สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยของอียู และการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ภาคการผลิตและบริการขั้นต้นเดือนมิถุนายน รวมถึงดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (พีซีอี) เดือนพฤษภาคมของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนได้

 

 

 

“แนะนำกลยุทธ์การลงทุน ในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการประกาศอย่างเป็นทางการผ่อนคลายเปิด และขยายเวลากิจการ-กิจกรรม 8 ประเภทในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) อาทิ การเปิดห้องสมุด – สระว่ายน้ำ ปรับเวลานั่งรับประทานอาหารที่ร้านอาหารได้ถึง 23.00 น. ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ให้เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน เป็นต้นไป โดยหุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากมาตรการดังกล่าวคือหุ้นกลุ่มร้านอาหารและค้าปลีก ได้แก่ AU, M, ZEN และ CPALL” นางสาววิลาสินี กล่าว

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง