รีเซต

กรมการแพทย์เตือนอย่าให้เด็กทดลองดื่มเหล้า เสี่ยงสูญเสียพัฒนาการทางสมอง

กรมการแพทย์เตือนอย่าให้เด็กทดลองดื่มเหล้า เสี่ยงสูญเสียพัฒนาการทางสมอง
NewsReporter
9 มกราคม 2566 ( 10:58 )
88
กรมการแพทย์เตือนอย่าให้เด็กทดลองดื่มเหล้า เสี่ยงสูญเสียพัฒนาการทางสมอง
กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ย้ำเตือน พ่อ แม่ และผู้ปกครองอีกครั้ง อย่าเพียงแค่นึกสนุก หรือมีความเชื่อผิดๆ ให้บุตรหลานดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อในอนาคตจะได้คอแข็ง ซึ่งอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า ส่งผลระยะยาวต่อพัฒนาการทางสมอง
 
 
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ ขอย้ำเตือน พ่อ แม่ ผู้ปกครองอีกครั้ง อย่าเพียงแค่นึกสนุก หรือมีความเชื่อผิดๆ ให้บุตรหลานดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อในอนาคตจะได้คอแข็ง สุราหรือเหล้า รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ไม่ใช่เครื่องดื่มที่เหมาะสมให้เด็กดื่ม หากเด็กดื่มสุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลต่อร่างกายของเด็กมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า ทั้งทำลายสมองและระบบต่างๆ ในร่างกาย ส่งผลระยะยาวต่อพัฒนาการทางสมอง จะทำให้เด็กสูญเสียความสามารถในการจดจำ ความคิดสร้างสรรค์ถูกทำลาย สุรา หรือเหล้า คือ เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์
 
 
เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกายภายในเวลา 5 นาที ในผู้ใหญ่ เมื่อมีการดื่มในช่วงแรก จะทำให้ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ประมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการสับสน มากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดอาการง่วง สับสน ซึม มึนงง และถ้ามากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อาจทำให้สลบ ซึ่งการก่อพิษของแอลกอฮอล์ในเด็กกับผู้ใหญ่ไม่ต่างกัน เพียงแต่ในปริมาณการดื่มที่เท่ากันความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดของเด็กจะมากกว่าเนื่องจากน้ำหนักตัวเด็กที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ และโครงสร้างที่ป้องกันสารพิษในระบบไหลเวียนเลือดไปสู่สมองของเด็กพัฒนาการยังไม่เต็มที่ ทำให้สารพิษเข้าสู่สมองได้มากกว่าผู้ใหญ่ รวมไปถึงอวัยวะต่างๆ ตับและไต ที่พัฒนายังไม่เต็มที่ ทำให้การขับสารพิษออกจากร่างกายได้ช้ากว่าผู้ใหญ่
 
 
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การดื่มสุราทำให้การหลั่งสารโดปามีน (dopamine) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสารนี้จะมีผลต่อการกดและทำลายสมองส่วนคิด ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องพัฒนาการของสมอง อาจส่งผลให้เด็ก คิดวิเคราะห์ไม่ได้ รวมทั้งส่งผลต่ออวัยวะสำคัญในร่างกาย ตับ ไต จะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ซึ่งตับเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตกลูโคสไปเลี้ยงสมอง หากมีผลกระทบต่อตับ กลไกเหล่านี้ก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่
 
ทั้งนี้การที่ผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวดื่มสุราให้เด็กเห็นเป็นประจำ แนวโน้มที่เด็กจะโตขึ้นมาเป็นนักดื่มมีมากกว่าปกติถึง 4 เท่า ยิ่งพ่อแม่ผู้ปกครองให้ลูกลองดื่ม ยิ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ลูกกลายเป็นนักดื่มเร็วยิ่งขึ้น ย้ำเตือน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงผู้ใหญ่ที่คิดจะให้เด็กทดลองดื่มสุรา เพียงแค่นึกสนุก หรือมีความเชื่อผิดๆ เช่น ให้บุตรหลานดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในอนาคตจะได้คอแข็ง พฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของบุตรหลานอย่างมาก อย่าเพียงแค่นึกสนุกแต่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วย ซึ่งอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า
 
เด็กควรจะต้องได้รับอาหารและสารอาหารที่ถูกต้อง ครบถ้วน เหมาะสมตามวัย ซึ่งจะทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการที่ดี ส่งผลต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และการพัฒนาสติปัญญา ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา หรือยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี
 

 
 
ข้อมูล กรมการแพทย์

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง