รีเซต

โควิด-19 : ผู้หญิงฟิลิปปินส์เผชิญวิกฤตขาดแคลนผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดท่ามกลางภาวะโรคระบาด

โควิด-19 : ผู้หญิงฟิลิปปินส์เผชิญวิกฤตขาดแคลนผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดท่ามกลางภาวะโรคระบาด
บีบีซี ไทย
21 พฤษภาคม 2563 ( 07:15 )
147
1

JAY ARGUELLES

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund) ระบุ วิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อาจทำให้ผู้หญิงหลายสิบล้านคนไม่สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น

 

รายงานของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ผู้หญิง 47 ล้านคน ใน 114 ประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำและปานกลาง อาจไม่สามารถเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดแบบสมัยใหม่ได้

 

"คาดว่าจะเกิดการตั้งครรภ์แบบไม่ได้ตั้งใจ 7 ล้านกรณีหากมาตรการล็อกดาวน์ดำเนินไปอีก 6 เดือน และจะเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อระบบให้บริการสาธารณสุข ทุก ๆ 3 เดือนที่มาตรการล็อกดาวน์ยังดำเนินต่อไป จะมีผู้หญิงเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านรายที่ไม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดแบบสมัยใหม่ได้"

 

สถานการณ์ในประเทศอย่างฟิลิปปินส์น่ากังวลเป็นพิเศษ เนื่องจากการทำแท้งยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และผู้หญิงต้องพึ่งศูนย์สาธารณสุขชุมชนและกลุ่มช่วยเหลือต่าง ๆ ในเรื่องการคุมกำเนิด

 

ดร.โจเซฟ ไมเคิล ซิงห์ ตัวแทนของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติในฟิลิปปินส์ บอกว่า อาจจะมีการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ถึง 1.2 ล้านกรณีในประเทศเพราะวิกฤตโควิด-19

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติยังเตือนอีกว่า การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงการขาดแคลนหมอตำแยหรือพยาบาล บริการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน อาจทำให้แม่มือใหม่เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

 

ของหมด

แอมินา อีวานเจลิสตา สวอนโพเอล จากกลุ่มรูตส์ออฟเฮลธ์ (Roots of Health) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนบอกว่า ถุงยาง ฮอร์โมนฝังใต้ผิวหนัง และยาเม็ดคุมกำเนิด ที่มีอยู่เริ่มจะร่อยหรอแล้ว

 

กลุ่มของเธอคอยให้ความช่วยเหลือด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดปาลาวัน แต่ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ต้องใช้มีเหลือน้อยลงทุกทีเนื่องจากการขนส่งและเที่ยวบินถูกจำกัดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19

 

หน่วยงานด้านครอบครัวของฟิลิปปินส์บอกกับบีบีซีว่า พวกเขามีผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดเพียงพอแต่การแจกจ่ายไปให้ถึงพื้นที่ต่าง ๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก

 

JAY ARGUELLES
เชอรี วิลลาการาเซีย พยาบาลจากกลุ่มรูตส์ออฟเฮลธ์ไปให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

"มีผู้หญิงคนหนึ่งต้องเดินมาไกลราว 10 กิโลเมตรกว่าจะมาถึงเรา และต้องผ่านจุดตรวจหลายแห่งและอธิบายทุกครั้งว่าทำไมต้องมาหาเราที่นี่" อนาลิซา เฮอร์เรรา จากหน่วยสาธารณสุขเมืองเปอร์โต ปรินเซซา จังหวัดปาลาวัน กล่าว

 

ในหลายพื้นที่ของฟิลิปปินส์ รวมถึงจังหวัดปาลาวัน มาตรการล็อกดาวน์อนุญาตให้สมาชิกในครัวเรือนหนึ่งคนเท่านั้นเดินทางไปไหนมาไหน และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย สวอนโพเอล จากกลุ่มรูตส์ออฟเฮลธ์ บอกว่า เป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะออกไปหาผลิตภัณฑ์คุมกำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของผู้หญิงบางคนที่ไม่บอกคู่ครองว่าคุมกำเนิดอยู่

 

แม้ว่าจะมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ รวมทั้งจังหวัดปาลาวัน และรถขนส่งสาธารณะก็กลับมาบริการแล้ว แต่การให้บริการยังเป็นไปอย่างจำกัดตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม

JAY ARGUELLES
สถานการณ์ในประเทศอย่างฟิลิปปินส์น่ากังวลเป็นพิเศษ เนื่องจากการทำแท้งยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และผู้หญิงต้องพึ่งศูนย์สาธารณสุขชุมชนและกลุ่มช่วยเหลือต่าง ๆ ในเรื่องการคุมกำเนิด

"เรายังคงได้รับการติดต่อจากผู้หญิงหลายคนที่บอกว่าพวกเธอต้องการยาเพิ่ม แต่ก็กลัวที่จะออกไปนอกบ้าน" สวอนโพเอลกล่าว การต้องกักตัวอยู่กับคู่ครองก็ทำให้เรื่องยุ่งยากเข้าไปใหญ่ "จะเป็นเรื่องยากกว่าเดิมอีกสำหรับผู้หญิงที่อยากจะวางแผนมีลูกตามธรรมชาติในฟิลิปปินส์ที่จะปฏิเสธไม่มีเพศสัมพันธ์ในช่วงไข่สุก"

 

ช่วยถึงบ้าน

กลุ่มรูตส์ออฟเฮลธ์ ใช้วิธีเดินทางไปหากลุ่มคนที่เปราะบางตามบ้านและแจกผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดให้

"ตอนแรกฉันกลัวมาก ๆ ว่าจะติดเชื้อ[ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่] ขณะทำงานช่วยเหลือกับกลุ่ม เพราะตอนนี้ฉันมีลูกอายุหกเดือน" พยาบาลชื่อ เชอรี วิลลาการาเซีย กล่าว

"เป็นภารกิจที่ท้าทายจริง ๆ ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เราเจอไม่มีเงินซื้อยาคุมกำเนิด"

 

วิกฤตโควิด-19 ยิ่งทำให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ยากเข้าไปใหญ่

"มีผู้หญิงคนหนึ่งขอให้ฉันฉีดยาให้ตอนที่อยู่เธออยู่ไกลจากบ้านเพราะว่าสามีเธอไม่รู้เรื่องนี้ ดูเธอเร่งรีบมาก และก็มีร่องรอยว่าเกิดความรุนแรงในบ้านขึ้น" วิลลาการาเซียกล่าว

จังหวัดปาลาวันมีอัตราการตั้งครรภ์ในหญิงวัยรุ่นสูงที่สุดจังหวัดหนึ่ง ก่อนจะเกิดวิกฤตคนก็เข้าถึงการคุมกำเนิดได้ยากอยู่แล้ว

 

Getty Images
จากแบบสำรวจทั่วประเทศในปี 2017 มีผู้หญิง 49 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทั้งหมดที่ไม่ได้ใช้การคุมกำเนิด

จากแบบสำรวจทั่วประเทศในปี 2017 มีผู้หญิง 49 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทั้งหมดที่ไม่ได้ใช้การคุมกำเนิดใด ๆ มีผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว 17 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่อยากตั้งครรภ์แต่ก็ไม่ได้คุมกำเนิด

 

"สาเหตุอันดับหนึ่งที่ผู้หญิงในฟิลิปปินส์ไม่วางแผนครอบครัวเพราะพวกเธอกลัวว่า[การคุมกำเนิด]จะมีผลข้างเคียง และกลุ่มต่อต้านผู้ให้ความช่วยเหลือด้านอนามัยเจริญพันธุ์ก็เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่มีหลักฐาน" ดร.โจเซฟ ไมเคิล ซิงห์ จากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ กล่าว

 

"ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวคาทอลิก และก็มีบาทหลวงที่เคร่งศาสนาและมีอิทธิพลมาก ในภาคใต้เราก็มีผู้นำศาสนาอิสลามที่มีอิทธิพลมากเช่นกัน"

"การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19" พยาบาลเชอรีกล่าว

"มันน่าเศร้า ผู้หญิงควรจะเข้าถึงมันได้"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง