รีเซต

สธ.ชี้ "โควิด-19" ทำสังคมเข้าสู่ "วิถีใหม่" เศรษฐกิจกับโรคระบาดต้องพอดีกัน

สธ.ชี้ "โควิด-19" ทำสังคมเข้าสู่ "วิถีใหม่" เศรษฐกิจกับโรคระบาดต้องพอดีกัน
มติชน
17 พฤษภาคม 2563 ( 15:34 )
229
สธ.ชี้ "โควิด-19" ทำสังคมเข้าสู่ "วิถีใหม่" เศรษฐกิจกับโรคระบาดต้องพอดีกัน

สธ.ชี้ “โควิด-19” ทำสังคมเข้าสู่ “วิถีใหม่” เศรษฐกิจกับโรคระบาดต้องพอดีกัน

ผ่อนปรนมาตรการ- เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงชีวิตปกติวิถีใหม่ (New Normal) ของประชาชนตามมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 ในช่วงสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า มี 5 ข้อหลักดังนี้

1.คัดกรองตนเองป่วยหรือเสี่ยง หลังตื่นนอนทุกเช้าต้องคัดกรองตัวเองว่ามีอาการป่วยหรือไม่ อาทิ ไข้ ไอ จาม เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือ มีประวัติเดินทางไปยังสถานที่มีความเสี่ยง เช่น สถานที่แออัด ตลาดนัด การกินเลี้ยงสังสรรค์ เมื่อพบว่าตนเองมีความเสี่ยงจะต้องไม่ออกนอกบ้านและดูแล/กักกกันตัวเอง
2.ประเมินความจำเป็นและวางแผนออกนอกบ้านให้สั้น จะต้องมีการวางแผนก่อนออกจากบ้าน สถานที่ใดไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเดินทางไป หากจำเป็นต้องไปจะต้องลดระยะเวลาให้สั้น
3.เลือกสถานบริการมาตรฐานตามมาตรการรัฐ ซึ่งเป็นชีวิตวิถีใหม่ หรือ New norm โดยขณะนี้ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มไทยชนะ ให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบก่อนเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้
4.ใช้เครื่องป้องกันสวมหน้ากาก เจลแอลกอฮอล์ สิ่งที่สำคัญคือการล้างมือ และจะต้องสวมหน้ากากอนามัยให้เป็นอาวุธประจำตัว
5.ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการของสถานประกอบการ หากเดินทางไปยังสถานประกอบการใดจะต้องให้ความร่วมมือในการ คัดกรอง ตามมาตรการต่างๆ

นพ.บัญชา กล่าวว่า วิถีใหม่ความร่วมมือของประชาชนขณะอยู่ในสถานประกอบการ ดังนี้ 1.ลงทะเบียน โดยสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การสแกนคิวอาร์โค้ด หรือการจดบันทึกด้วยมือ 2.คัดกรอง ผู้ที่มีอาการป่วยและมีความเสี่ยง จะไม่สามารถเข้าสถานประกอบการได้ 3.ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่ 4.ไม่ใช้ของร่วมกัน เช่น การรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ จะต้องไม่ใช้ช้อนตักร่วมกัน จะต้องแยกของใช้อย่างชัดเจน 5.ลดพูดคุยเสียงดัง รวมถึงการตั้งวงดื่มสุรา ที่ส่งผลทำให้ไม่สามารถควบคุมสติได้ 6.เลี่ยงสถานที่แน่น ศบค.กำหนดว่า งดการจัดกิจกรรมโปรโมชั่น ชั่วโมงทอง ลดราคาสินค้าที่ทำให้มีประชาชนเข้าไปแออัดกัน และ 7.เว้นระยะห่าง โดยเน้นหลักการอย่างง่าย คือ โต๊ะ เตียง วางห่างกัน 2 เมตร ประชาชนห่างกัน 1 เมตร  พื้นที่ 1 คนต่อ 5 ตารางเมตร สระว่ายน้ำ 150 ตารางเมตร ต่อ 1 คนว่ายน้ำ

นอกจากนี้ นพ.บัญชา กล่าวว่า วิถีใหม่ของผู้ประกอบการ โดยจะมีเจ้าหน้าที่พนักงานท้องถิ่นทำหน้าที่ในการตรวจสอบสถานประกอบการต่างๆ ดังนี้ 1.ลงทะเบียน จัดคิวล่วงหน้า 2.จัดที่รอ มีการจัดที่นั่งรอโดยจะต้องเว้นระยะห่าง 3.คัดกรอง ผู้เข้าใช้บริการ 4.ติดตั้งจุดบริการ เจลล้างมือ ให้เพียงพอ 5.จัดสถานที่หรือบริการ ลดแน่นเว้นระยะ โดยจะต้องมีผู้เข้าไปกำกับควบคุมระบายคนอย่าให้เกิดความหนาแน่น 6.ทำความสะอาด ขอเน้นย้ำว่าจะต้องทำความสะอาดทุก 2 ชั่วโมง 7.ระบายอากาศ ต้องตรวจสอบว่าเครื่องปรับอากาศมีการเกิดเชื้อราหรือไม่ แต่หากประชาชนสวมหน้ากากอนามัยอย่างไรก็สามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง 8.งดสุรา ซึ่งเป็นข้อห้ามเด็ดขาดที่ห้ามมีการบริการ 9.จำกัดเวลาบริการ กำหนดให้ตั้งแต่ 1-2 ชั่วโมงต่อราย ซึ่งเป็นรายละเอียดของแต่ละกิจกรรม และ 10.จำกัดบริการหรือกิจกรรมใกล้ชิด

นพ.บัญชา กล่าวว่า วิถีใหม่หน่วยงานรัฐ ที่มีหน้าที่ติดตามกำกับมาตรการผ่อนปรน ดังนี้ 1.การแยก กัก ดูแล ติดตามรายสัมผัสคนป่วย คนเสี่ยง ในกรณีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานติดตามกำกับที่มีความเสี่ยง 2.แพลตฟอร์มไทยชนะ การลงทะเบียน ผู้ประกอบการ และประชาชน 3.คู่มือการปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยและกรมควบคุมโรค จะมีกำหนดออกมาอย่างเหมาะสม เนื่องจากมีบางกิจการที่ไม่สามารถทำได้ตามรายละเอียด ทั้ง 2 กรมจะลงพื้นที่ลงไปเพื่อปรับ/ออกแบบใหม่ เพื่อสร้างความปลอดภัย 5.หน่วยงานพื้นที่ตรวจสอบ กำกับ และ 5.สายตรวจ ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นการผนึก 3 กำลัง โดย สธ.จะเป็นผู้ช่วยด้านวิชาการ ส่วนตำรวจและทหารจะมีการบังคับใช้ตามกฏหมาย

“โรคระบาดและเศรษฐกิจ จะต้องพอดี เศรษฐกิจ จะดำเนินไปได้เพราะจะต้องมีมาตรการผ่อนปรนที่พอดี หากมาตรการเข้มจนเกินไปเศรษฐกิจก็จะไปไม่ได้ แต่หากเศรษฐกิจจะไปแบบดีมาก โรคก็อาจจะระบาดแทน ดังนั้นสองสิ่งนี้จึงเป็นเหตุและผลของความพอดี ซึ่งอยู่ในฐานของความพอเพียงตามสถานการณ์ บางช่วงอาจจะต้องเข้มเนื่องจากมีการระบาด หรือบางช่วงอาจจะผ่อนคลายเนื่องจากสถานการณ์ดีขึ้น ดังนั้น วิถีใหม่ วิกฤตโควิด-19 คือ วิถีเศรษฐกิจพอเพียง” นพ.บัญชา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง