รีเซต

ผลวิจัยชี้วัคซีนโควิดไวรัล เวคเตอร์ เทียบ mRNA สกัดป่วยหนัก-เสียชีวิต แต่ต้องบูสต์โดส

ผลวิจัยชี้วัคซีนโควิดไวรัล เวคเตอร์ เทียบ mRNA สกัดป่วยหนัก-เสียชีวิต แต่ต้องบูสต์โดส
มติชน
27 เมษายน 2565 ( 13:51 )
66
ผลวิจัยชี้วัคซีนโควิดไวรัล เวคเตอร์ เทียบ mRNA สกัดป่วยหนัก-เสียชีวิต แต่ต้องบูสต์โดส

เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) เครือข่ายระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุข หรือ ซีมีโอทรอปเมด ในประเทศไทย และวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งฟิลิปปินส์ จัดแถลงรายงานประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านรูปแบบออนไลน์บนแพลตฟอร์ม ซูม (zoom)

 

นายรอนจีน โซลันเต้ วิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งฟิลิปปินส์ ได้รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลฉบับใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญจากงานวิจัยจากกรณีศึกษากว่า 79 เรื่อง ว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก ต่างให้ประสิทธิผลที่เท่ากันในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (รพ.) และการเสียชีวิตจากโควิด-19 หลังการให้วัคซีน 2 เข็ม

 

นายรอนจีน กล่าวว่า โดยรายงานฉบับดังกล่าวแสดงข้อมูลอย่างชัดเจนว่า ทั้งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ  แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไวรัล เวคเตอร์ และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ต่างให้ประสิทธิผลในการป้องกันการเข้ารักษาตัวใน รพ. โดย แอสตร้าฯ อยู่ที่ร้อยละ 92.5 ส่วน mRNA อยู่ที่ร้อยละ 91.3 และป้องกันการเสียชีวิต แอสตร้าฯ อยู่ที่ร้อยละ 91.4 ส่วน mRNA อยู่ที่ร้อยละ 93.3 โดยไม่มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยในทุกช่วงอายุ ทั้งนี้ แม้ว่าข้อมูลในขณะที่ทำรายงานการวิเคราะห์ฉบับนี้จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ข้อมูลจากการระบาดระลอกใหม่ บ่งชี้ให้เห็นถึงผลที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนต่อการป้องกันอาการรุนแรงจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ทางด้าน พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ในการวิจัยควรจะต้องพิจารณาจากหลากหลายปัจจัยประกอบกัน โดยจะต้องดูจากประสิทธิผลของวัคซีนจากกรณีศึกษาจริง ซึ่งในประเทศไทยใช้การทดลองจากทั้ง 4 ภูมิภาค 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กาฬสินธุ กรุงเทพมหานคร และภูเก็ต ซึ่งพบว่า ผลที่ออกมาเป็นไปในทางที่สอดคล้องกัน ทั้งไวรัลเวคเตอร์ และ mRNA โดยมีอัตราการป้องกันการเข้า รพ.และเสียชีวิตได้ดี ทำให้มั่นใจว่า ประชากรของไทยได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างดี

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น แม้ว่าในขณะนี้การฉีดเข็มที่ 3 ร้อยละ 36 ของทั้งประเทศ จะต้องฉีดถึงเท่าไรจึงจะเพียงพอ พญ.สุเนตร กล่าวว่า ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า ต้องฉีดเท่าไรจึงจะเพียงพอ แต่วันนี้เราเห็นได้ชัดแล้วว่า กลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง ต้องได้รับเข็มบูสเตอร์ให้ได้มากที่สุด ส่วนเปอร์เซ็นที่จะสามารถเปรียบเทียบได้ อาจจะมองถึงช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า เราฉีดวัคซีนกันถึงร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด และเห็นว่าอัตราความรุนแรงสงบลงชัดเจน

รศ.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ เลขาธิการเครือข่ายซีมีโอทรอปเมด กล่าวว่า ได้เห็นแล้วว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์ และหลังจากฉีดแล้ว เมื่อระยะเวลาผ่านไป ประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงของโรคจะต่ำลง ดังนั้น การได้รับวัคซีน 2 เข็ม ยังไม่เพียงพอ การฉีดเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) หรือเข็มที่ 3 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน ไม่ว่าวัคซีนที่ฉีดจะเป็นวัคซีนชนิดไวรัล เวคเตอร์ หรือ mRNA ก็ตาม จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อลดภาระของเตียงใน รพ. หรือป้องกันการเสียชีวิต

 

ด้าน นายบรูซ มุนกอลล์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ประจำภูมิภาคเอเชียวัคซีนและโรคติดเชื้อ แอสตร้าเซนเนก้า สิงคโปร์ กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วัคซีนแต่ละยี่ห้อมีประสิทธิผลใกล้เคียงกันอย่างไร ทำให้มีทางเลือกในการเข้ารับวัคซีน นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจ และสามารถเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองได้อีกด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง