เปิด 5 สายพันธุ์ย่อยสมาชิก "ซุปโอมิครอน" ที่ต้องติดตาม น่ากลัวแค่ไหน?
ศูนย์จีโนมฯ เปิด 5 สายพันธุ์ย่อยจากสมาชิกใน "ซุปโอมิครอน" ที่ต้องเฝ้าติดตาม น่ากลัวแค่ไหน? อ่านเลยที่นี่
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ โควิด-19
โดยระบุว่า "5 สายพันธุ์ย่อยจากสมาชิกใน "ซุปโอมิครอน" ที่ต้องเฝ้าติดตาม เนื่องจากหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด และดื้อต่อยาฉีดประเภทแอนติบอดีสำเร็จรูปเกือบทุกประเภท และเสี่ยงสูงที่จะมีวิวัฒนาการต่างออกไปจากตระกูลโอมิครอน ปรับปรุง 5/11/2565 เวลา 8:41 สายพันธุ์ย่อยใน “ซุปโอมิครอน” ช่วงนี้มีการกลายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว พบแล้วมากกว่า 300 สายพันธุ์ย่อย (sublineages)
เหตุใดศูนย์จีโนมฯและทั่วโลกกำลังติดตามโอมิครอน 5 สายพันธุ์ย่อยดังกล่าวนี้
1. XBB พบในฐานข้อมูลโควิดโลก “จีซ่าด (GISAID)”ประมาณ 1,464 ตัวอย่าง
2. XBB.1 พบในฐานข้อมูลโควิดโลก “จีซ่าด (GISAID)”ประมาณ 802 ตัวอย่าง
3. CH.1.1 พบในฐานข้อมูลโควิดโลก “จีซ่าด (GISAID)”ประมาณ 80 ตัวอย่าง
4. BA.4.6.3 พบในฐานข้อมูลโควิดโลก “จีซ่าด (GISAID)”ประมาณ 47 ตัวอย่าง
5. BQ.1.1.10 (BQ.1.1+Y144del) พบในฐานข้อมูลโควิดโลก “จีซ่าด (GISAID)”ประมาณ 29 ตัวอย่าง
เพราะเนื่องจากผลทดสอบทางห้องปฏิบัติการบ่งชี้ว่าทั้งห้าสายพันธุ์ย่อยนี้หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด โดยเฉพาะโอมิครอน BQ.1.1.10 (BQ.1 ที่จีโนมบางตำแหน่างขาดหายไป: Y144del) และดื้อต่อยาฉีดประเภทแอนติบอดีสำเร็จรูปเกือบทุกประเภท
จากการคำนวตำแหน่งพันธุกรรมทั้งจีโนมเปรียบเทียบระหว่าง "โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป" กับ "โอมิครอนสายพันธุ์หลักในปัจจุบัน BA.5" ที่ระบาดไปทั่วโลกพบว่าทั้ง 5 สายพันธุ์ย่อยมีความการเปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) สูงกว่า BA.5 ด้วยกันทั้งสิ้น ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกจึงลงความเห็นว่าควรติดตามเฝ้าระวัง 5 สายพันธุ์นี้เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการกลายพันธุ์ต่อเนื่องอุบัติเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ทางองค์การอนามัยโลกอาจต้องกำหนดอักษรกรีกเรียกต่างไปจากโอมิครอน
-โอมิครอน BA.4.6.3 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 64%
-โอมิครอน XBB มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 89%
-โอมิครอน XBB.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 101%
-โอมิครอน CH.1.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 190%
-โอมิครอน BQ.1.1.10 (BQ.1 ที่จีโนมบางตำแหน่างขาดหายไป: Y144del) มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 281%
อย่างไรก็ดีในขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่พบความแตกต่างของบรรดาสายพันธุ์ย่อยในซุปโอมิครอนที่ก่อโรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตแตกต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม อนึ่งโอมิครอนทั้ง 5 สายพันธุ์ย่อย XBB, XBB.1, CH.1.1, BA.4.6.3 และ BQ.1.1.10 (จากข้อมูลในจีซ่าด) ยังไม่พบการระบาดภายในประเทศไทย ในขณะที่โอมิครอน "BA.2.3.20" ซึ่งมีรายงานว่าพบในประเทศไทย 2 รายมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5 ไม่มากประมาณ 64% (ภาพ5) หลบเลี่ยงภูมิคุ้มได้ในระดับหนึ่ง แต่น้อยกว่า XBB, XBB.1, CH.1.1, BA.4.6.3 และ BQ.1.1.10 (ภาพ2) นอกจากนี้ "BA.2.3.20" ยังไม่ดื้อต่อยาฉีด“เอวูเชลด์” ซึ่งเป็นแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibody - LAAB) ที่ประเทศไทยมีใช้อยู่
ขอขอบคุณ
“ดร.หยุนหลงเฉา (Yunlong Cao)” และทีมวิจัยจากศูนย์นวัตกรรมชีวการแพทย์บุกเบิก (BIOPIC), มหาวิทยาลัยปักกิ่ง, สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้สร้างอนุภาคเทียม หรือ Pseudovirus ของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ซึ่งเป็นไวรัสที่ไม่ก่อโรคมาทดสอบในห้องปฏิบัติการกับตัวอย่างเลือดจากอาสาสมัครที่ได้รับการฉีดวัคซีน (ซิโนแวค) 3 เข็ม และต่อมามีการติดเชื้อโอมิครอน BA.5 ตามธรรมชาติ
หมายเหตุ การทดลองแบบนี้เป็นการทดลองเบื้องต้น ดำเนินการในหลอดทดลอง ทำได้รวดเร็วแต่อาจมีความคลาดเคลื่อนเมื่อเทียบกับการติดเชื้อไวรัสจริงในร่างกายผู้ติดเชื้อ
https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2022.09.15.507787v4
ขอขอบคุณ
"ดร.คอร์นีเลียส โรเมอร์ (Cornelius Roemer)"
นักชีววิทยาคอมพิวเตอร์ / นักชีวสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และทีมงานที่ช่วยสร้างฐานข้อมูลโควิดใหม่ทำให้ทางศูนย์จีโนมฯสามารถพล็อต BQ.1.1.10 บนต้นไม้สายวิวัฒนาการได้"
ที่มา Center for Medical Genomics
ภาพจาก รอยเตอร์