"คลังสินค้า-รง.ให้เช่า" รับอานิสงส์โควิด อัตราเช่ายังดีเหตุอีคอม-ช้อปออนไลน์โตดี
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดถึงภาพรวมตลาดคลังสินค้าและโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า การขยายตัวของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซส่งผลให้คลังสินค้าและโรงงานเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ชที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการทำงานจากที่บ้าน (WFH) รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการบริการช้อปปิ้งออนไลน์รายใหญ่ยังคงสนใจมองหาคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี โดยส่วนใหญ่ต้องการใช้พื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร ขณะที่ผู้พัฒนารายใหญ่ก็ยังคงมองหาที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าอีกกว่า 200,000 ตารางเมตรในอีก 2 ปีข้างหน้าโดยเฉพาะในพื้นที่ สมุทรปราการ และในพื้นที่อีอีซี เพื่อรองรับความต้องการที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
นายภัทรชัยกล่าวว่า สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2563 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนและประเทศอื่นๆ รวมถึงปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินภูมิภาครวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลต่อภาคการส่งออกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในหมวดสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 ต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาทสามารถทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยที่ทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ค่อย ๆ ฟื้นตัวอีกครั้งอย่างช้า ๆ จากการใช้จ่ายในประเทศที่ผ่านมา และอาจกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
นายภัทรชัยกล่าวว่า ณ สิ้นครึ่งแรก ปี พ.ศ. 2563 อุปทานคลังสินค้าและโกดังในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่อีอีซี ทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 6,963,000 ตารางเมตร โดยพบว่าจังหวัดสมุทรปราการยังคงเป็นพื้นที่ที่มีพื้นที่คลังสินค้าสูงสุด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 38% ที่ประมาณ 2.619 ล้านตารางเมตร ตามด้วยในพื้นที่อีอีซี ที่ 32% ที่ประมาณ 2.255 ล้านตารางเมตร และพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีการดำเนินการในตลาดอุตสาหกรรมและคลังสินค้า และยังคงพยายามขยายธุรกิจคลังสินค้าในพื้นที่เหล่านี้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี(จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา) หลังจากความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซี เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบินและการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ยังส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจด้านอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสามารถดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนเนื่องจากเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่น่าจับตามองในอนาคตอันใกล้
“ในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พบว่า มีผู้ประกอบการรายใหญ่ ยังคงให้ความสนใจพัฒนา โลจิสติกส์ พาร์ก แบบครบวงจร ในพื้นที่บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา บนที่ดินขนาด 200 ไร่ ในทำเลยุทธศาสตร์ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตร 46 เขต EEC ใกล้กับกรุงเทพมหานคร สนามบินสุวรรณภูมิ และท่าเรือแหลมฉบัง พัฒนาเป็นพื้นที่คลังสินค้าคุณภาพสูงระดับพรีเมี่ยมพร้อมด้วยบริการโซลูชั่นที่ครอบคลุม บนพื้นที่อาคารรวมกว่า 170,000 ตารางเมตร ซึ่งมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จระยะที่ 1 ภายในปี 2563 เพื่อรองรับความต้องการผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในเขตอีอีซี”นายภัทรชัยกล่าว
นายภัทรชัยกล่าวว่า ณ ครึ่งสิ้นแรกของปีพ.ศ. 2563 มีพื้นที่โรงงานและคลังสินค้ารวมในประเทศไทยถูกใช้ไปแล้วทั้งหมด 6.079 ล้านตารางเมตรจากพื้นที่ทั้งหมด 6.963 ล้านตารางเมตร ซึ่งคิดเป็น 87.3% ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5% จากในช่วงครึ่งหลังของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเช่าที่สูงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 95% ของพื้นที่คลังสินค้าทั้งหมด รองลงมาคือในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการทางด้านโลจิสติกส์ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการเชื่อมต่อกับศูนย์กลางการผลิตและการกระจายสินค้า โดยพบว่ามีอัตราการเช่าอยู่ที่ประมาณ 91% ตามด้วยพื้นที่อีอีซี ที่มีอัตราการเช่าอยู่ที่ 74% ส่วนราคาค่าเช่าเฉลี่ยสำหรับพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยกรุงเทพฯค่าเช่าเฉลี่ยสูงที่สุดที่ 174 บาทต่อตารางเมตร ตามด้วยค่าเช่าในพื้นที่อีอีซี ซึ่งอยู่ที่ 153 บาทต่อตารางเมตร และในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการที่ประมาณ 152 บาทต่อตารางเมตร