รีเซต

ปศุสัตว์เลย จ่อประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน ด้านโรคระบาดสัตว์ หลังวัว-กระบือล้มตายจากลัมปีสกิน 58 ตัว

ปศุสัตว์เลย จ่อประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน ด้านโรคระบาดสัตว์ หลังวัว-กระบือล้มตายจากลัมปีสกิน 58 ตัว
มติชน
25 มิถุนายน 2564 ( 16:12 )
135

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีจังหวัดเลย พบวัวและควายของเกษตรที่เลี้ยงไว้ป่วยเป็นโรคระบาด “ลัมปี สกิน” และมีการแพร่กระจายลุกลามไปทั้ง 14 อำเภอ ปัจจุบันมีสัตว์ป่วยสะสมกว่า 2,011 ตัว และล้มตายไปแล้ว 58 ตัว

 

 

นายสุวัตน์ มัตราช ปศุสัตว์จังหวัดเลย เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคลัมปี สกิน เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเลยตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นโรคที่แพร่ระบาดโดยแมลงเป็นพาหนะ ทำให้มีการกระจายไปทุกพื้นที่ จากจุดเริ่มต้นที่อำเภอท่าลี่ อำเภอเอราวัณ อำเภอภูหลวง ทำให้การกระจายไปครบทั้ง 14 อำเภอ สถานการณ์ปัจจุบันมีสัตว์ที่เจ็บป่วยจากโรคลัมปี สกิน มีจำนวน 2,011 ตัว มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 614 ราย ทำให้มีสัตว์ล้มตาย ตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 58 ตัว ส่วนใหญ่สัตว์ที่ตายเป็นสัตว์ที่มีอายุยังน้อย

 

 

นายสุวัตน์กล่าวว่า หากคิดไปในด้านผลกระทบความรุนแรง ซึ่งจังหวัดเลยมีสัตว์ประเภทวัวนม วัวเนื้อ และควาย ตัวเลขอยู่ที่ 61,000 กว่าตัว มีเกษตรกรที่เลี้ยงจำนวน 5,003 ราย ถ้าคิดอัตตราการป่วยของสัตว์มี 3.29 % ในส่วนของเกษตกรที่ได้รับผลกระทบมี 12.27 % ขณะนี้รักษาหายไปแล้ว 302 ตัว หรือประมาณ 1.5%

 

 

“แต่ที่ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก คือสัตว์ได้ล้มตายไปแล้วกว่า 58 ตัว ซึ่งทางปศุสัตว์จังหวัดเลยได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเลย และสำนักงานป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลย อำเภอทั้ง 14 อำเภอ ได้เตรียมการประกาศภัยพิบัติฉุกเฉิน ด้านโรคระบาดสัตว์ ขณะนี้รอเพียงให้ผู้ว่าราชการลงนาม

 

 

“การประกาศภัยพิบัตินี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตกรที่จะได้รับการชดเชย เมื่อสัตว์เลี้ยงที่ล้มตายไป ในส่วนซากที่ล้มตายจากการติดเชื้อ ทางปศุสัตว์ได้ควบคุมอย่างเข้มงวด เมื่อสัตว์ที่เลี้ยงตายให้มีการฝังกลบทันที และในจังหวัดเลยก็ได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาดไปแล้ว ห้ามเคลื่อย้ายสัตว์ชนิดโคกระบือ” นายสุวัตน์กล่าว

 

 

นายสุวัตน์กล่าวว่า ส่วนการแพร่ระบาดของเชื้อ พี อาร์ อาร์ เอส ซึ่งเป็นโรคระบาดในสุกรและหมูป่า ในจังหวัดเลย ซึ่งก็เป็นโรคไม่ติดต่อสู่คน ขณะนี้ระบาดไปแล้ว 3 อำเภอคือ อำเภอท่าลี่ ปากชม และอำเภอภูเรือ ซึ่งการระบาดเกิดขึ้นจากการสอบสวนโรค พบว่าเริ่มจากที่เกษตรกรลักลอบการเคลื่อนย้ายของสัตว์ ซื้อขายทางออนไลน์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้ติดเชื้อมา และได้แพร่กระจายไปแล้ว 3 อำเภอ

 

 

นายสุวัตน์กล่าวว่า ปศุสัตว์ได้ประกาศการควบคุมโรคจุดที่มีการระบาดในรัศมี 5 กิโลเมตร ห้ามการเคลื่อนย้ายสัตว์ เมื่อป่วยให้ทำลายโดยการฝังกลบเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง