อธิบดีกรมประมง ย้ำ อาหารทะเล ปรุงสุกกินได้ ไม่ติด 'โควิด' แน่นอน
โควิด : มีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เน้นย้ำ ขอให้ประชาชนวางใจ อาหารทะเลยังปลอดภัย ทานได้ปกติ เน้นปรุงสุก-ล้างให้สะอาด ตามหลักสุขอนามัย
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รอบใหม่ ซึ่งแหล่งแพร่กระจายโรคมาจากตลาดกุ้งในพื้นที่จ.สมุทรสาคร และได้ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่น ๆ
- พาณิชย์จับมือเอกชนเตรียมหาตลาดสำรองจำหน่ายกุ้ง เอกชนยืนยันกุ้ง-อาหารทะเลไทยปลอดโควิด-19
- ตลาดสี่มุมเมือง แจงแล้ว ปมห้ามขายกุ้ง-อาหารทะเล เยียวยาผู้ค้า ไม่คิดค่าเช่าแผง31วัน
- สุราษฎร์ฯติดรายแรก! เปิดไทม์ไลน์พนง.ขับรถส่งกุ้ง พบมาส่งของที่ตลาดทะเลไทย
สร้างความตื่นตระหนกให้กับพี่น้องประชาชนถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยในการบริโภคสัตว์น้ำ อีกทั้งยังกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ รวมถึงการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวประมงเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค กรมประมงจึงขอย้ำชัดอีกครั้งว่า ยังไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรน่า 2019 อยู่ในตัวของสัตว์น้ำแต่อย่างใด โดยสัตว์น้ำเป็นสัตว์เลือดเย็นไม่มีปอดแต่ใช้เหงือกในการหายใจ และยังมีความแตกต่างของผิวเซลล์ ซึ่งปลามีโครงสร้างไม่เหมือนคนทั้งหมด ทำให้โอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์เข้าสู่เซลล์ของสัตว์น้ำเป็นไปได้ยาก
นายมีศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานการเกิดโรคจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกันนี้ อาทิ โรคซาร์ส และเมอร์ส ในสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เลือดเย็นมาก่อน โดยอ้างอิงข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ นายสัตว์แพทย์ .ดร. วิน สุรเชษฐพงษ์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การปนเปื้อนของเชื้อไวรัส โควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดสุขอนามัยที่ดี ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานและสัมผัสสัตว์น้ำ จึงขอให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและผ่านการผลิตที่มีมาตรฐาน
เน้นให้ความใส่ใจในเรื่องสุขอนามัยเป็นสำคัญ โดยไม่ควรรับประทานอาหารสัตว์น้ำที่ดิบหรือไม่สุกดี และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสัตว์น้ำโดยตรง อาจใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบหรือตักและล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำให้ดีก่อนทำการปรุงอาหารทุกครั้ง
ซึ่งเชื้อไวรัส โควิด-19 จะถูกทำลายด้วยความร้อนที่ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 30 นาที และหากความร้อนสูงขึ้นระยะเวลาที่เชื้อถูกทำลายจะสั้นลง โดยอ้างอิงข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายมีศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรมประมงยังได้เข้มงวดในการควบคุมความปลอดภัยและสุขอนามัยในสินค้าสัตว์น้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตลอดสายการผลิต โดยมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่วางจำหน่ายก่อนถึงมือผู้บริโภค
อีกทั้งยังเพิ่มมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพและสุขอนามัยในกลุ่มเกษตรกร ชาวประมง และผู้ประกอบการ พร้อมติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการระบาดของโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นการกำหนดมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
การคัดกรองลูกเรือประมงและคนประจำเรือในช่วงเวลาเข้า-ออก ณ ท่าเทียบเรือประมงทุกแห่ง การกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของโควิด-19 ในแรงงานที่เข้าไปทำงานในโรงงานแปรรูป เป็นต้น