รีเซต

มีจริงหรือ ? "ต้นไม้เดินได้" เคลื่อนที่ได้ปีละ 20 เมตร

มีจริงหรือ ? "ต้นไม้เดินได้" เคลื่อนที่ได้ปีละ 20 เมตร
TNN ช่อง16
25 เมษายน 2567 ( 13:37 )
19
มีจริงหรือ ? "ต้นไม้เดินได้" เคลื่อนที่ได้ปีละ 20 เมตร

บริเวณป่าฝนในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ มีเรื่องเล่าถึงต้นไม้ที่ชื่อโซคราที เอ็กโซไรซา (Socratea exorrhiza) หรือชื่อที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็คือ ต้นปาล์มเดินได้ นั่นก็เพราะเชื่อว่ามันคือต้นไม้ที่สามารถเดินได้วันละ 2 - 3 เซนติเมตร และในหนึ่งปีก็เคลื่อนที่ได้กว่า 20 เมตรเลยทีเดียว ฟังดูเหมือนเหมือนกับเผ่าพันธุ์ต้นไม้เดินได้อย่าง เอนท์ ในภาพยนตร์ชุดเดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ (The Lord of the Rings) เลยทีเดียว



ซึ่งความเชื่อนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีมูล เพราะในปี 1980 นักมานุษยวิทยาชื่อจอห์น บอดลีย์ (John H. Bodley) และโฟลีย์ เบนสัน (Foley C. Benson) เผยแพร่รายงานวิทยาศาสตร์ ว่าในป่าแอมะซอน บริเวณประเทศเปรู มีต้นไม้ที่ใช้รากที่งอกอยู่เหนือพื้นดิน ค่อย ๆ เดินออกจากที่ร่มไปรับแสงแดด ลักษณะการเดินเอนลำต้นไปหาแสง จากนั้นก็จะงอกรากใหม่มารองรับเรื่อย ๆ แล้วก็จะปล่อยให้รากเก่าเน่าเปื่อยไป


ซึ่งรายงานนี้ก็ได้กลายไปเป็นข้อมูลที่บรรดาไกด์นำเที่ยวป่าฝนในอเมริกาบอกเล่าให้บรรดานักท่องเที่ยวต่าง ๆ ฟังมาจนถึงปัจจุบัน


คำถามคือ พฤติกรรมที่ดูไม่เหมือนพืชนี้ เกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า ? 


แต่ว่าก็มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง เช่นในปี 2005 เจราร์โด อวาลอส (Gerardo Avalos) นักนิเวศวิทยาเขตร้อน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนในเมืองอาร์เทนาส (Atenas) ประเทศคอสตาริกา หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลกเกี่ยวกับต้น Socratea exorrhiza ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารเกี่ยวกับชีววิทยาเขตร้อนอย่างไบโอทรอปิกา (Biotropica) พบว่าจริง ๆ แล้ว Socratea exorrhiza เดินไม่ได้ จริงอยู่ที่เมื่อมันโดนแรงกระแทกจนต้นเอนเอียง มันก็จะงอกรากใหม่ออกมาเพื่อค้ำยันต้นให้สมดุล และก็สามารถยืดส่วนยอดต้นเพื่อเอนเข้าหาแสงแดดได้ เหมือนกับต้นไม้อื่น ๆ อีกหลายชนิด แต่บริเวณโคนต้น มันไม่ได้เคลื่อนที่เลย 


ในปี 2007 มีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นเกี่ยวกับหน้าที่ของรากของต้น Socratea exorrhiza ของผู้เชี่ยวชาญด้านสรีระวิทยาของพืชชื่อ เกรกอรี อาร์. โกลด์สมิธ (Gregory R. Goldsmith) ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา และผลลัพธ์ก็ตรงกับงานวิจัยของอวาลอส นั่นคือ ต้นปาล์มนี้เดินไม่ได้


แต่ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า แล้วหากต้นปาล์มนี้เดินไม่ได้ แล้วทำไมมันจึงมีรากที่อยู่สูงขนาดนี้ ซึ่งหากย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1960 นักวิทยาศาสตร์คิดว่า ต้นไม้วิวัฒนาการรากลักษณะนี้ออกมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากพอจะสนับสนุนแนวคิดนี้


ซึ่งพอมาจนถึงยุคปัจจุบัน นักวิจัยก็ได้แย้งว่า การวิวัฒนาการให้มีรากแบบนี้ นั่นเพราะต้นไม้ต้องการเพิ่มความสูง และเพิ่มความมั่นคง ให้สามารถยืดออกไปรับแสงแดดได้มากขึ้น เพื่อลดพลังงานที่จ่ายให้กับลำต้นหลักเพียงลำต้นเดียว


ปัจจุบันแม้ว่าต้น Socratea exorrhiza จะยังเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงศึกษา และบรรดาไกด์อาจจะยังคงเล่าให้นักท่องเที่ยวฟังว่าเป็นต้นไม้เดินได้ 


ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกดีและก็น่าจะถกเถียงกันต่อ ซึ่งยังไม่สามารถคอนเฟิร์มได้ว่ามันเดินได้จริงหรือไม่ แต่ไม่แน่ ในพื้นที่ที่มนุษย์ยังไม่ค้นพบ อาจจะมีต้นอะไรสักต้นที่กำลังเดินอยู่ก็ได้



ที่มาข้อมูล ScienceAlert, NatureandCultureLivescience

ที่มารูปภาพ Palmpedia

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง