รีเซต

AKR ฉายภาพโค้งแรกสดใส ดีมานด์หม้อแปลงไฟฟ้าดัน

AKR ฉายภาพโค้งแรกสดใส ดีมานด์หม้อแปลงไฟฟ้าดัน
ทันหุ้น
29 เมษายน 2567 ( 15:17 )
33
AKR ฉายภาพโค้งแรกสดใส ดีมานด์หม้อแปลงไฟฟ้าดัน

#AKR #ทันหุ้น – AKR ไตรมาส 1/2567 สดใสทยอยรับรู้รายได้จากหม้อแปลงไฟฟ้าต่อเนื่อง ด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศยังคงเติบโต ช่วยหนุนธุรกิจหม้อแปลงเป็นอย่างดี ด้านกลุ่มธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ปีนี้โดดเด่น ด้วยปัจจัยค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มสูง ทำให้ลูกค้าผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเข้ามาเป็นจำนวนมาก

 

นายดนุชา น้อยใจบุญ กรรมการ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ AKR ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าและบริการซ่อมบำรุงรักษา รับออกแบบติดตั้งรวมทั้งก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย รวมทั้งผลิตและจำหน่ายเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศยังคงเติบโตตามเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจของบริษัททั้งการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ยังคงมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง

 

ประกอบกับการให้ความสำคัญต่อนโยบายผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งความต้องการลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการใช้พลังงานทดแทนของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย

 

*Q1/67 รับทรัพย์เพิ่ม

 

โดยบริษัทประเมินว่าทิศทางผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสที่ 1/2567 เนื่องจากจะทยอยรับรู้รายได้จากหม้อแปลงไฟฟ้าที่ล่าช้ามาจากปลายปี 2566 มูลค่าหลายร้อยล้านบาท เเละปัจจุบันบริษัทมีงานในมือรอการทยอยส่งมอบ (Backlog) ในส่วนของงานหม้อแปลงไฟฟ้า ธุรกิจงานรับเหมาออกแบบและติดตั้ง (EPC) แผงโซลาร์รูฟท็อป อยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะทยอยรับรู้ทั้งหมดในปี 2567 ทั้งหมด

 

และบริษัทก็มีแผนประมูลงานเพิ่มเข้าต่อเนื่อง คาดว่าจะช่วงสนับสนุนผลการดำเนินงานในปี 2567 เติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน ราว 10-15% จากปี 2566 มีรายได้จำนวน 2,284.08 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและมีการเคลื่อนไหวด้านการลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทสามารถจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าให้แก่ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมารวมทั้งสามารถให้บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าในพื้นที่ของลูกค้าได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

 

*ธุรกิจโซลาร์โตเด่น

 

นอกจากนี้ยังสามารถรายได้งานบริการเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนของกลุ่มธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์เนื่องจากงานติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์โครงการใหญ่ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ใกล้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย และงานโครงการใหม่ในปี 2566 จะทยอยรับรู้รายได้เป็นรายงวดในอนาคต

 

สำหรับธุรกิจงานรับเหมาออกแบบและติดตั้ง (EPC) แผงโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งบริษัทดำเนินธุรกิจแบบ 2 รูปแบบ ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง EPC และการลงทุนให้ หรือเป็น “Private PPA” หรือ Power Purchase Agreement เป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบ Solar Rooftop PPA ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้น

 

ด้วยปัจจัยค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มสูง ทำให้ไม่ว่าจะทั้งลูกค้าผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม มีความสนใจในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเข้ามาเป็นจำนวนมาก และการย้ายฐานทุนของต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานในไทย รวมถึงการขยายสิทธิ BOI ในปี 2567 มองว่าช่วยทำให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาเพิ่มมากขึ้น

 

ขณะที่ปัจจุบันรายได้ของบริษัทมาจากการดำเนินงาน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. รายได้จากการจำหน่ายสินค้าที่ 80.09% 2. รายได้งานบริการและซ่อมบำรุง 11.99% 3. รายได้รับจ้างติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ 6.38% 4. รายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 1.54%

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง