วิจัยเผย 'น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี' ฟุกุชิมะ จ่อกระทบทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกใน 10 ปี
ปักกิ่ง, 3 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์จีนร่างแบบจำลองคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลกจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น โดยชี้ว่าน้ำที่ปนเปื้อนอาจแพร่กระจายไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกภายใน 10 ปี หากมีการปล่อยลงสู่ทะเล
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ทางออนไลน์ในวารสารเนเชอรัล ไซแอนซ์ รีวิว (National Science Review) ซึ่งมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบ พบว่าสารพิษจะกระจายครอบคลุมมหาสมุทรแปซิฟิกแทบทั้งหมดใน 3,600 วัน หลังการปล่อยน้ำปนเปื้อน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเมื่อเดือนเมษายนว่าญี่ปุ่นจะเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2023
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงหัวของจีน ซึ่งนำโดยจางเจี้ยนหมินและหูเจิ้นจง จำลองกระบวนการแพร่กระจายของธาตุกัมมันตรังสีและพบว่าสารพิษในน้ำที่ปนเปื้อนอาจส่งผลกระทบต่อชายฝั่งของจีนใน 240 วัน หลังการปล่อยน้ำ
ผลการศึกษาระบุว่าน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจะกระจายไปเกือบทั่วภูมิภาคแปซิฟิกเหนือใน 1,200 วัน ก่อนจะกระจายไปทางทิศใต้สู่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้และมหาสมุทรอินเดีย
นอกจากนั้น ผลการศึกษายังพบว่าธาตุกัมมันตรังสีจะก่อให้เกิดความกังวลใกล้อเมริกาเหนือในท้ายที่สุด โดยจะปนเปื้อนชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัดใน 2,400 วัน
อนึ่ง จีนได้แสดงความกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับการตัดสินใจของญี่ปุ่นเพื่อปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ พร้อมเรียกร้องให้ญี่ปุ่นใช้แนวทางที่เปิดกว้าง โปร่งใส และมีความรับผิดชอบเพื่อจัดการกับน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของประเทศ