เช็กด่วน! “ผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับเด็ก” ก่อนตัดสินใจให้ลูก-หลานฉีดวัคซีน
ในช่วงเดือนตุลาคม ทางกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ จะเริ่มทยอยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กนักเรียนตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 และเตรียมการพร้อมเปิดเทอมใหม่ในเดือนพฤศจิกายน โดยความกังวลของผู้ปกครอง มักจะเป็น “ผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์” ที่เราพบเจอว่ามีความเสี่ยง “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” หลังฉีดวัคซีน วันนี้ TrueID จึงได้รวบรวมสิ่งที่ผู้ปกครองควรรู้ก่อนให้เด็กฉีดวัคซีนไฟเซอร์มาฝากกัน
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ (Pizer) เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีการอนุมัติใช้กับเด็กอายุตั้งแต่ 12-18 ปี ภายในประเทศไทยเป็นชนิดแรก โดยมีข้อมูลการศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการ เมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพการป้องกันในผู้ใหญ่ถึง 100% นอกจากนั้นยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็ก ระดับใกล้เคียงกับผู้ใหญ่อายุ 16-25 ปี โดยมีระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก
ผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ในเด็ก
1.ผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น เจ็บบริเวณตำแหน่งที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
2.อาการข้างเคียงเฉพาะที่ที่เกิดขึ้นเล็กน้อย เช่น บวม แดงในตำแหน่งที่ฉีด
3.อาการข้างเคียงทั้งระบบ เช่น ไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
4.อาการข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเป็นอาการข้างเคียงที่พบรายงานในอัตราต่ำมาก
จากภาพรวมข้อมูลด้านประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ที่มีการฉีดในเด็กพบว่า มีผลดีมากกว่าผลข้างเคียง ซึ่งพบได้ในอัตราที่ต่ำ ปัจจุบันในประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงซึ่งขณะนี้มีเพียงวัคซีนชนิด mRNA เช่น วัคซีนไฟเซอร์ ที่มีข้อแนะนำให้สามารถฉีดในเด็กได้ ส่วนวัคซีนชนิดอื่น ๆ เช่น วัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือชนิดไวรัสเวกเตอร์ ยังไม่มีคำแนะนำการฉีดในเด็ก
ในกลุ่มเด็ก วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เป็นวัคซีนที่มีข้อมูลสามารถใช้ได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีได้ ซึ่งการได้รับวัคซีน 1 ล้านคน ป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 1,000 คน และป้องกันการเสียชีวิตได้ 10 กว่าคน เมื่อเทียบกับอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรืออัตราการนอนโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด โดยเฉพาะภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สามารถรักษาได้ เคสส่วนมากที่มีอาการ สามารถรักษาและหายเป็นปกติในไม่กี่วัน และส่วนมากไม่มีใครเสียชีวิตจากภาวะนี้ จึงสรุปได้ว่า วัคซีนไฟเซอร์ยังมีความคุ้มค่าในการให้วัคซีนในเด็กอยู่
ประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับเด็ก
ก่อนหน้านี้สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ (FDA) อนุมัติการใช้วัคซีนไฟเซอร์ในกรณี้ฉุกเฉิน ในกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 12 - 15 ปี ไปแล้ว พร้อมอนุมัติการใช้งานเต็มที่สำหรับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปด้วย
และเมื่อวันที่ 29 ก.ย.64 บริษัทเวชภัณฑ์ ไฟเซอร์ (Pfizer) และไบโอเอนเทค (BioNTech) เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ยื่นข้อมูลการทดลองเบื้องต้น สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เด็กอายุระหว่าง 5 - 11 ปี และจะยื่นเรื่องขออนุมัติการฉีดวัคซีนโควิดเป็นการฉุกเฉินสำหรับเด็กกลุ่มนี้อย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ ซึ่งทาง FDA จะพิจารณาข้อมูลของไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค สำหรับเด็กกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุดประมาณสิ้นเดือนตุลาคม
ประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ ในเด็กวัยรุ่นอายุ 12-15 ปี
ฉีดสองเข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์เหมือนผู้ใหญ่ โดยกลุ่มอายุนี้จะได้รับวัคซีนโดสละ 30 ไมโครกรัม พบว่า มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ หลังฉีดวัคซีนครบสองเข็ม ได้ถึง 100% อาการไม่พึงประสงค์คล้ายคลึงกับในผู้ใหญ่ ประเทศที่เริ่มฉีดไปแล้ว ได้แก่ ญี่ปุ่น สเปน นอร์เวย์ เป็นต้น
ประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ ในเด็กวัยรุ่นอายุ 16-25 ปี
การฉีดวัคซีนในเยาวชน อายุระหว่าง 16-25 ปี พบผลข้างเคียงบ้าง แต่รุนแรงน้อยกว่าผลข้างเคียงที่พบในผู้ใหญ่ อาทิ อาการปวดบริเวณจุดที่รับการฉีดยา อาการปวดหัว เป็นไข้ และเมื่อยล้า เป็นต้น และเว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 3 สัปดาห์เหมือนกลุ่มอายุอื่นๆ ประเทศที่เริ่มฉีดไปแล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น
ประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ ในเด็กอายุ 5-11 ปี
ในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 และ 3 มีประสิทธิภาพแบบเดียวกันกับที่พบในกลุ่มคนอายุ 16-25 ปีก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ข้อมูลด้านความปลอดภัยก็เทียบเคียงได้กับที่ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มคนอายุ 16-25 ปีเช่นเดียวกัน โดยจะได้รับวัคซีนจำนวน 2 เข็มที่มีปริมาณโดสละ 10 ไมโครกรัม ซึ่งต้องรอผลอนุมัติอย่างเป็นทางการจาก FDA อีกครั้งหนึ่ง
การเตรียมความพร้อมก่อนฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก
1.ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า โดยยังไม่แนะนำการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กทั่วไป
2.ไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 14 วัน ยกเว้นการฉีดวัคซีนที่มีความจำเป็นเช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อเด็กถูกสัตว์กัด
3.เด็กและวัยรุ่นหญิงที่มีประจำเดือน อยู่ในระยะหลังคลอด หรือให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
4.เด็กและวัยรุ่นที่หายจากโรคโควิด-19 หรือโรคแทรกซ้อนจากโรคโควิด-19 และโรคคาวาซากิ (MIS-A หรือ MIS-C) ควรเว้นระยะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ห่างจากวันที่ตรวจพบเชื้อ 1-3 เดือน โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยพลาสมา ควรได้รับวัคซีนทันทีเมื่อครบกำหนด 90 วัน
ข้อควรระวัง
1.เด็กและวัยรุ่นที่มีอาการแพ้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงภายหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 หรือแพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของวัคนอย่างรุนแรง ควรรับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อพิจารณาเลื่อนหรือเปลี่ยนชนิดวัคซีนในเข็มที่ 2
2.หากเด็กและวัยรุ่นมีประวัติสัมผัสเสี่ยงใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าเด็กจะได้รับการตรวจยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโรคโควิด-19
3.วัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเมื่อมีอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , thematter , TNN
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง