รีเซต

พฤษภาคมลุ้นจบ “เอลนีโญ” ทิ้งทวนร้อนแล้ง รับ “ลานีญา” ทำฝนเพิ่ม-น้ำท่วมปลายปี

พฤษภาคมลุ้นจบ “เอลนีโญ” ทิ้งทวนร้อนแล้ง รับ “ลานีญา” ทำฝนเพิ่ม-น้ำท่วมปลายปี
TNN ช่อง16
18 เมษายน 2567 ( 08:58 )
51
พฤษภาคมลุ้นจบ “เอลนีโญ” ทิ้งทวนร้อนแล้ง รับ “ลานีญา” ทำฝนเพิ่ม-น้ำท่วมปลายปี



เป็นข้อมูลที่ รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุว่า เอลนีโญจะลดลงสู่ระดับอ่อนในเดือน พ.ค.67 และกำลังลานีญาจะเพิ่มขึ้น โดยมีแนวโน้มอยู่ในระดับอ่อนถึงปานกลางมากที่สุด


แต่ที่น่าสนใจคือ ก่อนเอลนีโญจะจบ !! รศ.ดร. วิษณุ ชี้ว่าเป็นการทิ้งทวน "ร้อนและแล้งยืดเยื้อ”


โดยอุณหภูมิช่วง ม.ค. – มี.ค.67 เป็นการทำสถิติสูงสุดในรอบ 175 ปี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน แต่ใน  1 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ 16 เม.ย. จนถึง 10 พ.ค.67 ปริมาณฝนยังมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยความน่าจะเป็นที่ฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติอยู่ในระดับสูง


รศ.ดร.วิษณุ แจกแจงไทมไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก ดังนี้


-จากนี้ถึง 26 เม.ย.67 ภาคเหนือ อีสานตอนบน บางส่วนของภาคตะวันตก กลาง และตะวันออก มีแนวโน้มที่ฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติสูงกว่าภูมิภาคอื่น


- พ.ค. 67 ค่าเฉลี่ยผลพยากรณ์ของสำนักอุตุนิยมวิทยา 13 สำนักทั่วโลกบ่งชี้ตรงกันว่า ปริมาณฝนประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติเกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง เตือนบางส่วนของภาคเหนือและตะวันตกต้องระวังภัยแล้งยืดเยื้อให้มาก

- มิ.ย. 67 ปริมาณฝนจะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติเกือบทุกภูมิภาค แต่สถานการณ์จะดีขึ้นกว่าช่วง พ.ค. และภาคใต้จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

- ก.ค.67 ปริมาณฝนจะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในภาคเหนือ ตะวันตก กลาง และตะวันออก แต่สถานการณ์จะดีขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านั้น โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ในอีสานจะกลับสู่ภาวะฝนปกติ ภาคใต้จะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติต่อเนื่อง

- ส.ค.67 หลายพื้นที่อาจเผชิญฝนน้อยกว่าปกติช่วงฤดูฝน ปริมาณฝนมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงมาที่ฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติต่อเนื่อง

- ก.ย. 67 ผลพยากรณ์จากอุตุนิยมวิทยา 14 สำนักทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนทิศทาง โดยบ่งชี้ว่าปริมาณฝนจะกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาคเล็กน้อย ต้องระวังน้ำท่วมเพราะเป็นเดือนที่ปริมาณฝนสูงสุดในรอบปี

- ต.ค.67 ปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคเหนือที่ฝนจะอยู่ระดับปกติ แต่ต้องระวังน้ำท่วมภาคใต้ โดยเฉพาะใต้ตอนบน เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนใหญ่ของภาคใต้นั่งเอง

รศ.ดร.วิษณุ ปิดจบโพสต์ด้วยสรุปคำเตือน “เตรียมกับมือกับอากาศร้อนจัดและความแห้งแล้งที่อาจยืดเยื้อ ต้องเตรียมวางแผนการใช้น้ำช่วงฤดูแล้งและช่วงฤดูฝนที่ฝนอาจมาล่าช้ากว่าปกติ และเตรียมรับมือน้ำท่วมและอากาศหนาวเย็นช่วงปลายปีด้วย"


สทนช. คาด 10 วันสิ้นสุดฤดูแล้ง มิ.ย. ลานีญา มาแน่


สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. โดย นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ปี 2567 ประเทศไทยเผชิญภัยแล้งประมาณ 30 จังหวัด และมีเพียง 3-4 จังหวัดที่ประสบภัยแล้งรุนแรง แต่โดยภาพรวมถือว่าภัยแล้งปีนี้ไม่รุนแรงหนักมาก หากเทียบกับที่ต้องเผชิญปรากฏการณ์เอลนีโญ่  ซึ่งทาง สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหา คลี่คลายสถานการณ์เป้นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ทำเกษตรนอกฤดู ที่ไม่ได้อยู่ในแผนบริหารจัดการใช้น้ำ จำนวน 3 ล้านไร่ ก็ได้อนุมัติใช้น้ำมาช่วยทำเกษตรกรจึงทำให้พืชผลไม่ได้รับความเสียหาย


“และเหลือพียงแค่ 10 วัน ก็จะผ่านพ้นฤดูแล้ง เข้าสู่ฤดูฝน และเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาในเดือนมิถุนายน ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือมากกว่าปกติเล็กน้อย”


เลขาธิการ สทนช. ยอมรับว่า แม้คาดว่าจะพ้นฤดูแล้งในไม่ช้า แต่ช่วง 3 เดือนแรกก็อาจเกิดฝนทิ้งช่วงได้ จึงต้องมีการสำรองน้ำไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนก่อนฝนจะมา และเมื่อเข้าสู่ปรากฎการณ์ลานีญาเพิ่มกำลัง ก็มีมาตรการรองรับ โดยวางแผนบริหารจัดการน้ำแยกเป็นแต่ละลุ่มน้ำ ประเมินประสิทธิภาพการรองรับปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ว่าสามารถรับน้ำได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการเผชิญภัยแล้งช่วงที่ผ่านมา พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีน้ำกักเก็บอยู่ร้อยละ 80 ได้กระจายส่งช่วยเหลือประชาชนทั้งอุปโภค บริโภคไปบางส่วน ทำให้อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศขณะนี้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้อย่างเต็มที่ แต่หากเกิดพายุฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ต้องบริหารจัดการน้ำในแต่ละอ่างเก็บน้ำให้สมดุลอีกครั้ง


ซึ่งภาพรวมสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศขณะนี้


-มีปริมาณน้ำรวมร้อยละ 56 ของความจุเก็บกัก หรือกว่า 46,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

-ปริมาณน้ำใช้การได้ ร้อยละ 38 หรือ 22,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

- แหล่งน้ำเฝ้าระวัง ปริมาณน้ำน้อย 4 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ เขื่อนสิริกิติ์ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนจุฬาภรณ์ , ภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำคลองสียัด และ ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว

จิตฤดี บรรเทาพิษ เรียบเรียง

ข้อมูล : FB Witsanu Attavanich , สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ภาพ : TNN



ข่าวที่เกี่ยวข้อง