รีเซต

จีนกำลังพัฒนา 'จรวดขนส่ง-ยานอวกาศ' ลำใหม่ ใช้ในภารกิจเหยียบดวงจันทร์

จีนกำลังพัฒนา 'จรวดขนส่ง-ยานอวกาศ' ลำใหม่ ใช้ในภารกิจเหยียบดวงจันทร์
Xinhua
21 กรกฎาคม 2566 ( 21:11 )
32
จีนกำลังพัฒนา 'จรวดขนส่ง-ยานอวกาศ' ลำใหม่ ใช้ในภารกิจเหยียบดวงจันทร์

ปักกิ่ง, 21 ก.ค. (ซินหัว) -- คณะผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศของจีนเปิดเผยว่าปัจจุบันจีนกำลังพัฒนาจรวดขนส่งและยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมลำใหม่ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ภายในปี 2030

หรงอี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านจรวดของสถาบันเทคโนโลยีจรวดขนส่งแห่งชาติจีน (CALT) สังกัดบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศแห่งชาติจีน (CASC) กล่าวว่าจรวดขนส่งลองมาร์ช-10 (Long March-10) ลำใหม่ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรับหน้าที่หลักในการส่งยานอวกาศและยานลงจอดบนดวงจันทร์ เข้าสู่การเปลี่ยนวงโคจรระหว่างโลกและดวงจันทร์

อนึ่ง จรวดขนส่งลองมาร์ช-10 ใช้ไฮโดรเจนเหลว ออกซิเจนเหลว และเคโรซีน (kerosene) หรือน้ำมันก๊าดเป็นตัวขับเคลื่อน มีความยาวราว 92 เมตร น้ำหนักก่อนขึ้นบินประมาณ 2,187 ตัน กำลังขับเคลื่อนก่อนขึ้นบินประมาณ 2,678 ตัน และความสามารถบรรทุกไม่น้อยกว่า 27 ตัน สำหรับการเปลี่ยนวงโคจรระหว่างโลกและดวงจันทร์

องค์ประกอบของเครื่องยนต์จรวดลำใหม่ที่ไม่มีตัวเสริมแรง มีศักยภาพปฏิบัติภารกิจเพื่อขนส่งนักบินอวกาศและเสบียงสู่สถานีอวกาศ โดยมีความยาวรวมประมาณ 67 เมตร น้ำหนักก่อนขึ้นบินประมาณ 740 ตัน กำลังขับเคลื่อนก่อนขึ้นบินประมาณ 892 ตัน และความสามารถบรรทุกในวงโคจรต่ำของโลกไม่น้อยกว่า 14 ตัน

หรงกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อไม่นานนี้ว่าจรวดขนส่งลองมาร์ช-10 เป็นการสนับสนุนเชิงกลยุทธ์เพื่อให้จีนสามารถส่งนักบินอวกาศเหยียบดวงจันทร์ได้ก่อนปี 2030 และคาดว่าจะเตรียมทำการบินครั้งแรกในปี 2027

ยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมลำใหม่นี้ประยุกต์ใช้การออกแบบโมดูลาร์ ประกอบด้วยหอหนีภัย แคปซูลส่งกลับ และโมดูลบริการ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของภารกิจใกล้โลกและภารกิจในอวกาศห้วงลึกได้

ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญของสถาบันเทคโนโลยีอวกาศจีน สังกัดบริษัทฯ เผยว่ายานอวกาศมีมวลวงโคจรราว 26 ตัน และสามารถบรรทุกนักบินอวกาศ 3 คน ส่วนใหญ่จะใช้ในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์และส่งกลับสู่โลก

ยานอวกาศลำดังกล่าวแตกต่างจากยานอวกาศเสินโจวที่ประกอบโครงสร้างจากสามโมดูล โดยยานลำใหม่นี้จะมีสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือแคปซูลส่งกลับ ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของยานอวกาศทั้งหมดและเป็นที่พักอาศัยของนักบินอวกาศ อีกส่วนคือโมดูลบริการ ซึ่งเป็นศูนย์กลางพลังงานและกำลัง โครงสร้างจากสองโมดูลนี้จะทำให้ยานอวกาศพลิกแพลงได้ด้วยชิ้นส่วนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ จีนกำลังพัฒนายานอวกาศใกล้โลกที่มีความสามารถบรรทุกนักบินอวกาศ 4-7 คน ซึ่งเตรียมความพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวในอวกาศของจีน ด้วยการอ้างอิงข้อมูลจากยานอวกาศลำใหม่นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง