รีเซต

จีนเตรียมส่งยานฉางเอ๋อ 6 ทำภารกิจเก็บตัวอย่างหินด้านไกลของดวงจันทร์กลับโลก

จีนเตรียมส่งยานฉางเอ๋อ 6 ทำภารกิจเก็บตัวอย่างหินด้านไกลของดวงจันทร์กลับโลก
TNN ช่อง16
29 เมษายน 2567 ( 18:16 )
26
จีนเตรียมส่งยานฉางเอ๋อ 6 ทำภารกิจเก็บตัวอย่างหินด้านไกลของดวงจันทร์กลับโลก

การสำรวจดวงจันทร์ของจีนมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเตรียมส่งยานสำรวจฉางเอ๋อ 6 เดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ด้านไกล หากภารกิจสำรวจจีนจะกลายเป็นชาติแรกที่สามารถส่งยานอวกาศไปเก็บหินบนดวงจันทร์ด้านไกลส่งกลับมายังโลก โดยยานสำรวจฉางเอ๋อ 6 มีกำหนดเดินทางขึ้นสู่อวกาศด้วยการใช้จรวดลองมาร์ช-5 ในช่วงต้นเดือนพฤภาคมนี้


ปัจจุบันจรวดลองมาร์ช-5 และยานสำรวจฉางเอ๋อ 6 ถูกนำไปติดตั้งเตรียมพร้อมที่ฐานปล่อยจรวดเหวินชาง มณฑลไห่หนานทางตอนใต้ของจีน โดยการเปิดเผยขององค์การอวกาศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CNSA) ขั้นตอนการทดสอบระบบต่าง ๆ ของจรวดประสบความสำเร็จและดำเนินการไปตามแผนการ


อู๋ เว่ยเหริน หัวหน้าทีมออกแบบโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนเปิดเผยกับสำนักข่าว The Global Times ว่าภารกิจของยานสำรวจฉางเอ๋อ 6 นับว่าเป็นภารกิจที่สำคัญครั้งหนึ่ง โดยจะมีการเก็บตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ด้านไกลน้ำหนักประมาณ 2,000 กรัม ส่งกลับมายังโลกและทีมงานคาดว่าจะพบข้อมูลเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณค่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์ ซึ่งสามารถให้ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับระบบโลกและดวงจันทร์  


อย่างไรก็ตามภารกิจยานสำรวจฉางเอ๋อ 6 นั้นมีขั้นตอนการสื่อสารที่ซับซ้อนมากกว่าภารกิจอื่น ๆ เนื่องจากดวงจันทร์โคจรรอบโลกโดยหันด้านไกลออกจากโลกตลอดเวลาทำให้การสื่อสารระหว่างยานฉางเอ๋อ 6 จำเป็นต้องใช้ดาวเทียมทวนสัญญาณชื่อว่าเชวเฉียว-2 ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ทำหน้าที่เป็นทวนสัญญาณระหว่างยานฉางเอ๋อ 6 กับศูนย์ควบคุมบนโลก


สำหรับโครงการยานสำรวจฉางเอ๋อ 6 นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจดวงจันทร์ระยะที่ 4 ของจีน ซึ่งจะทำปฏิบัติภารกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการปล่อยยานอวกาศของประเทศจีนในอีก 15 ปีข้างหน้า ตามแผนการส่งมนุษย์อวกาศจีนไปเหยียบดวงจันทร์ได้ เกิดขึ้นก่อนปี 2030 รวมไปถึงการก่อสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (lLRS) ซึ่งมีประเทศจีนและรัสเซียเป็นแกนนำสำคัญร่วมกับประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ประมาณ 20 ประเทศ และขยายเพิ่มเป็น 50 ประเทศ โดยคาดว่าจะมีสถาบันนานาชาติ 500 แห่งและนักวิจัย 5,000 คน เข้าร่วมโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (lLRS) ในอนาคต


ที่มาของข้อมูล Global Times

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง