รีเซต

5 ข้อ อย่าทำ เวลาซื้อหุ้น

5 ข้อ อย่าทำ เวลาซื้อหุ้น
ทันหุ้น
27 พฤศจิกายน 2564 ( 16:36 )
124
5 ข้อ อย่าทำ เวลาซื้อหุ้น

 

หลักการลงทุนแบบ VI บอกให้เราลงทุนแบบเจ้าของธุรกิจ ลงทุนในธุรกิจที่มีผลประกอบการดี กิจการมั่นคง แล้วก็ซื้อในราคาที่เหมาะสม แต่บ่อยครั้งที่เรากลับขาดทุนเวลาที่เราซื้อหุ้นที่เรารู้จักดี มั่นใจมากๆ งบดีมากๆ ถามใครต่อใครก็คิดแบบนั้นเหมือนกันหมด

 

เรามาไขความลับนี้กันครับว่า การทำธุรกิจจริงๆ กับการลงทุนในหุ้นนั้นมีข้อแตกต่างกัน และเราอย่าทำแบบไหน 5 ข้อ ครับ

 

     1. อย่าซื้อหุ้นตอนที่เรามั่นใจมากเกินไป

เราชอบธุรกิจนี้ เคยทำงานด้านนี้มาก่อน รู้ทะลุปรุโปร่ง หรือเคยไปทดลองสินค้าร้านนี้บ่อยๆ จนมั่นใจมากๆ ว่า ดีแน่ๆ กิจการไม่มีทางขาดทุน ซื้อตอนนี้แล้วก็ยิ้มฝันหวานถึงกำไรที่จะมาในวันข้างหน้า แต่หลายครั้งที่พอเรามั่นใจแบบสุดๆ ก็มักจะมีอะไรที่เรามองข้ามไปอยู่เสมอ หรือมีความเสี่ยงที่เรานึกไม่ถึง เช่น

  • ราคาถ่านหินดี หุ้นจีนน่าสนใจ แต่ดันมาเจอกฎระเบียบจากภาครัฐ
  • หุ้นส่งออกที่ขายดี แต่ดันมาเจอเรื่องวัตถุดิบขาดแคลน ต้นทุนค่าระวางเรือที่สูง
  • หุ้นที่ดูมาดีแล้วว่า บริษัทไม่มีใครติด COVID แต่ดันไปเจอบริษัทอื่นใน supply chain ติด covid ทำให้มีปัญหาโรงงานผลิตสินค้าต่อไม่ได้ เพราะขาดบางชิ้นส่วนที่ต้องเอามาประกอบเข้าด้วยกัน

หลายครั้งที่เราไม่ชัวร์ กล้าๆ กลัวๆ แต่มองความเสี่ยงมาแล้วว่าถ้าเกิดแบบนี้ จะกระทบแค่ไหน จุดที่แย่ที่สุดประมาณไหน หรือในทางบวก จุดที่ดีที่สุด จุดดีกลางๆ ประมาณไหน ประเมินแล้วน่าสนใจ ซื้อไปแล้วใจสั่นนิดๆ หลายครั้งตลาดมักเฉลยออกมาดีกว่าตอนที่มั่นใจแบบสุดๆ

 

     2. อย่าซื้อหุ้นที่คนรู้กันทั้งประเทศ

เพราะถ้าทุกคนรู้ เขาก็ซื้อกันไปหมดแล้ว ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปหมดแล้ว เรามาซื้อทีหลังก็แปลว่า เราซื้อตามข่าวที่ออกมา ราคาก็วิ่งไปแล้ว เป็นความเสี่ยงสูงมากที่เราอาจจะเข้าไปยืนงงอยู่บนดอย แต่เหตุผลหลักที่เราชอบซื้อคือ เรามักจะรู้สึกสบายใจที่เห็นราคาหุ้นวิ่งขึ้นไป แล้วเราก็เข้าใจว่าขึ้นเพราะอะไร ดูข่าว อ่านบทวิเคราะห์ ถามเพื่อน ทุกคนก็อธิบายด้วยเหตุผลเหมือนกันหมดจนเรามั่นใจว่าดี

เราก็เลยซื้อหุ้นตัวนั้นไป โดยไม่รู้เลยว่า นั่นคือ ราคาบนยอดดอย ที่คนทั้งประเทศเดินขึ้นมากันหมดแล้ว

 

   3. อย่าซื้อหุ้นที่กำไรจะดีเป็นครั้งสุดท้าย

หลายคนติดดอยถุงมือยาง ติดดอยหุ้นโรงพยาลบาล เพราะเห็นงบกำไรออกมาดีมาก คาดการณ์ว่างบที่กำลังจะประกาศต้อง all time high แน่ๆ เพราะคนติด COVID ระดับสูงสุด ในความเป็นจริง คือ งบดีจริงแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่วนราคาหุ้นนั้นวิ่งนำไปก่อนล่วงหน้าแล้ว และก็ลงมาแล้วด้วย

เหตุผลก็คือ นักลงทุนในตลาดคาดการณ์อนาคตไว้ล่วงหน้าก่อนเสมอ และเห็นพ้องต้องกันว่า โอกาสที่กำไรจะดีไปกว่านี้ยากมากๆ ถ้าไม่มีเหตุการณ์เฉพาะแบบนี้เกิดขึ้นอีก ฐานก็สูงลิบลิ่ว ปีหน้าจะโตแบบมากๆ น่าจะไม่เห็น คิดได้ดังนั้นก็เลยทยอยขายทำกำไรกันออกมา ราคาหุ้นก็เลยร่วงลงมาเรื่อยๆ แปลว่า ถ้าเราดูแค่งบดี เราคิดถูก แต่อาจจะไม่ทำกำไรก็ได้ ถ้างบข้างหน้าจะกำไรได้น้อยลงเรื่อยๆ

 

     4. อย่าซื้อหุ้นที่ถูกแต่ไม่มีใครสนใจ

ในทางตรงกันข้าม เราจะเจอหุ้นที่ถูกแบบเรื้อรัง P/E เลขหลักเดียว P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า ปันผลทุกปี 100% ของกำไร ราคาหุ้นไม่ไปไหน เราคิดว่าเจอหุ้นถูกเข้าให้แล้ว (ซึ่งถูกจริง) แต่พอซื้อไปแล้ว เวลาผ่านไปเป็นเดือน ราคาหุ้นก็ไม่ไปไหนอยู่แบบนั้น โวลุ่มก็ไม่ค่อยมี

 

หุ้นแบบนี้บางทีเรียกว่าถูกเรื้อรัง ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ ไม่มีการลงทุนอะไรใหม่ๆ กำไรที่ทำได้มาแบบสม่ำเสมอ (คือไม่ได้เติบโต) เลยเอามาจ่ายปันผลแทน ทำให้ไม่มีความคาดหวังให้กับนักลงทุน ไม่มีข่าว ไม่มีสตอรี่อะไร ก็เลยไม่มีใครสนใจ ไม่ค่อยมีคนซื้อ และราคาหุ้นก็อยู่แบบนั้นไปเรื่อยๆ

 

     5. อย่าซื้อหุ้นที่มีการลงทุนหนักๆ แต่อีกนานถึงจะกำไร

บางครั้งหุ้นที่มีข่าวจะทำนู่นจะทำนี่ จะลงทุนใหญ่โต ก็อาจจะไม่ดีเสมอไป เราต้องดูด้วยว่าลงทุนอะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ จะต่อยอดได้แค่ไหน แล้วเมื่อไหร่จะคืนทุนได้ หุ้นแบบนี้ราคามักจะวิ่ง 3 ช่วงด้วยกัน คือ

  • ช่วงที่มีข่าวใหม่ๆ เพราะมีความคาดหวัง มีความตื่นเต้นในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ซักพักราคาหุ้นก็ค่อยๆ ลดลงตามข่าวที่ซาไป
  • ช่วงที่เริ่มลงทุนจริงจัง เริ่มเห็นหน้าตาชัดเจนว่าทำอะไรยังไงบ้าง สวยงาม ดีไม่ดีแค่ไหน แต่ซักพักราคาหุ้นอาจจะไม่ขยับต่อ เพราะเราเห็นแล้วว่ากิจการใหม่ การลงทุนใหม่ยังไม่ทำกำไร
  • ช่วงที่ค่าเสื่อมใกล้จะหมด เป็นจังหวะที่น่าสนใจลงทุน เพราะค่าเสื่อมที่แบกมาหลายปี ที่กดดันกำไรอยู่จะหมดไป ต่อจากนี้จะเป็นกำไรเต็มๆ ราคาหุ้นในอนาคตก็จะขึ้นได้อีกรอบ

แต่ในความเป็นจริง เรามักชอบซื้อหุ้นตอนมีข่าวออกมาแล้วว่าดี หรือเห็นกำไรแล้วว่าดีจริง ค่าเสื่อมหมดไปแล้วซักพักนึง กลายเป็นว่า เราซื้อหุ้นที่ราคาแพง (อีกแล้ว)

 

เส้นบางๆ ระหว่างการลงทุนแบบเจ้าของธุรกิจ กับ นักลงทุนในตลาดหุ้น คือ การที่เราเข้าใจความคาดหวังของตลาด และการคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดให้ออก เราต้องรู้จังหวะที่เหมาะสมในการซื้อหุ้นควบคู่ไปกับผลประกอบการ และแผนการดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

 

ที่มา : Stock Vitamins - วิตามินหุ้น

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง