“แหลมผักเบี้ย” เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และเป็นที่ตั้งของ “โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “โครงการแหลมผักเบี้ย” การเดินทางจากรุงเทพมหานคร ขับรถมาตามถนนทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 72 ชิดซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 2021 ถึงถนนหมายเลข 4021 ขับรถเลียบชายทะเลประมาณชั่วโมงเศษ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ผ่านอำเภอบ้านแหลมไม่นานก็จะถึงจุดหมาย “โครงการแหลมผักเบี้ย” เป็นโครงการที่มีการดำเนินงานตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องการบำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะผ่านวิถีทางธรรมชาติ โดยจะรับเอาน้ำเสีย 1 ใน 5 ส่วน จากเทศบาลเมืองเพชรบุรี ผ่านลำคลองกว่า 18 กิโลเมตร มาบำบัดโดยใช้กระบวนการธรรมชาติ และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง ซึ่งมีทั้งหมด 4 ขั้นตอน คือขั้นตอนที่ 1 การลำเลียงน้ำเสียมาพักในบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 บ่อ ได้แก่ บ่อตกตะกอน 1 บ่อ บ่อผึ่ง 3 บ่อ และบ่อปรับสภาพ 1 บ่อ และใช้สาหร่ายสังเคราะห์แสงช่วยเติมออกซิเจนให้จุลินทรีย์หายใจและช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำขั้นตอนที่ 2 การปล่อยน้ำเข้าสู่พื้นที่ที่มีการปลูกหญ้าที่มีคุณสมบัติกรองและดูดซับของเสียที่อยู่ในน้ำ ให้ช่วยดูดซับของเสียออกจากน้ำ อาทิ ต้นธูปฤาษี ต้นกกกลม ต้นหญ้าแฝกอินโดนีเซีย หรือต้นหญ้าที่ปลูกไว้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ เป็นต้นขั้นตอนที่ 3 การสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำเทียมทางธรรมชาติ โดจะมีการปล่อยน้ำเสียเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นบ่อดินตื้น ๆ ที่มีการปลูกพืชประเภทกก และใช้รากของต้นกกช่วยดูดซับสารพิษ และอินทรีย์สารในน้ำให้ลดน้อยลง และย่อยสลายให้หมดขั้นตอนที่ 4 การเจือจางระหว่างน้ำทะเลกับน้ำเสียผ่านพื้นที่ป่าชายเลนและปล่อยน้ำดีกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง และนอกจากแหลมผักเบี้ยจะเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการบำบัดน้ำเสีย และการกำจัดขยะแล้ว แหลมผักเบี้ยยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเหมาะแ่ก่การทัศนศึกษาที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง ด้วยมีทัศนียภาพที่สวยงาม แวดล้อมไปด้วยระบบนิเวศป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอนุบาลพันธ์สัตว์น้ำ และศูนย์รวมพันธ์นกหายากนานาชนิดอีกด้วย เหล่านี้ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยแท้ ที่ทรงนำเอากลวิธีเรียบง่ายทางธรรมชาติมาผสมผสานปฏิบัติจริงเกิดผลสำเร็จ และเป็นมรดกอันล้ำค่าที่สืบต่อไว้ให้ลูกหลานได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดต่อไป