หากพูดถึงเกาะยาวใหญ่ หลายคนอาจนึกถึงความสวยงามของทะเล ความสงบร่มรื่นและสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะแห่งนี้ คือ ชาวบ้านที่ยังมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ทั้งการทำประมง เกษตรกรรมและภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งความเอื้อเฟื้อ ความเข้มแข็งของชุมชนในการแบ่งปัน ตลอดจนมิตรไมตรีต่อผู้ที่มาเยือน ทำให้หลายคนอยากที่จะมาสัมผัสและเรียนรู้การดำรงชีวิตแบบวิถีชาวเกาะ ผมได้มีโอกาสไปเกาะยาวใหญ่กับเพื่อน ๆ และอาจารย์ในสาขา เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน ออกเดินทางไปขึ้นเรือแต่เช้าที่ท่าเรือเจียรวานิช ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ด้วยเรือ Speed Boat แล่นไปด้วยความเร็วกระทบคลื่นทะเลอันดามัน ละอองน้ำกระเซ็นเข้ามาในลำเรือ ทุกคนส่งเสียงโห่ร้องด้วยความสนุกสนาน ไม่นานก็แล่นเข้าสู่ชายฝั่งท่าเทียบเรือ ต.พรุใน ผมทั้งตื่นเต้นและดีใจมองไปยังเกาะยาวใหญ่ เป็นภาพที่สวยงามมาก น้ำทะเลสีฟ้าใส หาดทรายสีขาว เมื่อก้าวขาลงเกาะก็พากันแบ่งกลุ่มขึ้นรถเพื่อเดินทางเข้าไปในบ้านคลองบอน หมู่4 ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ระหว่างนั่งรถมองไปสองข้างทาง เห็นหมู่บ้านที่สงบร่มรื่น ผู้คนไม่วุ่นวาย เต็มไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม เมื่อไปถึงอาคารประมงบ้านคลองบอน มีชาวบ้านมาตอนรับด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอย่างเป็นมิตร มีการกล่าวต้อนรับจากผู้ใหญ่บ้าน จากนั้นก็เป็นเวลาที่พวกเราต้องแยกย้ายกันไปพักอาศัยอยู่บ้านของ “ป๊ะกับม๊ะ” ซึ่งเป็นชาวบ้านที่มารับพวกเราไปอยู่ด้วย หลังละ 2-3 คน เป็นครั้งแรกที่ผมได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตบนเกาะ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีนิสัยเป็นมิตรไมตรี ถึงแม้จะไม่รู้จักกันแต่ก็จะส่งยิ้มให้ ใช้ชีวิตเรียบง่ายและส่วนใหญ่เกือบทุกบ้านจะปลูกพืชผักสวนครัวไว้ข้างบ้าน ระหว่างทางผมไปเจอบ้านหลังหนึ่งที่หน้าบ้านมีป้ายติดไว้ว่า “ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง” จึงเกิดความสนใจอยากที่จะเรียนรู้ "บ้านของป๊ะเริ่มทำเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 " สมพงษ์ อุตส่าห์การ หรือใคร ๆ ก็เรียกเขาว่า “ป๊ะเหรด” ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องวิถีชีวิตว่า “อาชีพหลักของคนบนเกาะยาว คือ ประมง ทำสวน ซึ่งข้อได้เปรียบของคนที่นี่ เขาไม่ได้ทำงานบนบกเพียงอย่างเดียว คือ ถ้าเขาทำสวนยางพาราแล้วเศรษฐกิจราคายางตกต่ำผู้คนก็จะลงทะเล หันไปประกอบอาชีพประมง เมื่อทรัพยากรทางทะเลเริ่มลดน้อยลงชาวบ้านก็จะกลับมาประกอบอาชีพบนบกอีกครั้ง ก็จะหมุนเวียนอยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ป๊ะเคยทำประมง เคยมีเงินเดือนถึง 50,000 บาท แต่มันตอบโจทย์ชีวิตไม่ได้ เงินเดือน 50,000 บาท ต้องไปอยู่ภูเก็ต ต้องเช่าบ้าน ซื้อข้าว เติมน้ำมันรถ จาก 50,000 บาท ป๊ะใช้จ่าย 20,000 บาท ส่งให้ทางบ้านอีก 20,000 บาท เหลือเงินเก็บ 10,000 บาท แต่ถ้าป๊ะมาทำงานเกษตรกรรมได้เงิน 10,000 บาทต่อเดือนได้อยู่กับครอบครัว ความเหนื่อยมันแตกต่างกัน อยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงมันดีอย่างนี้” ในสวนของป๊ะเหรดปลูกพืชผักไว้มากมายไม่ว่าจะเป็น พริก ตะไคร้ ข่า แตงกวา ผักบุ้ง ผักโขม มะเขือ ราสเบอร์รี่ มะละกอ กล้วยหอม กล้วยน้ำหว้า กล้วยเล็บมือนาง ขนุน สะตอ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีนาข้าว เล้าเป็ด เล้าไก่ โรงปุ๋ยและสวนยางกว่า 20 ไร่แต่เขาไม่ได้กรีดยางแล้ว เพราะหันมาทำการเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก การทำเกษตรกรรมนอกจากจะเก็บไว้กินเองในครอบครัวแล้ว ยังแบ่งไปขายเพื่อเพิ่มรายได้อีกด้วยโดยจะขายที่บ้านตนเอง เวลาเช้า ช่วงประมาณ 10 โมงจะมีลูกค้ามาซื้อโดยส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำ เราจะรู้ว่าวันนี้เขาต้องการเท่าไร แต่ถ้าเป็นลูกค้าใหม่เขาก็จะเข้ามาถามว่าวันนี้มีแตงกวาไหม มีผักบุ้งไหม เป็นต้น นอกจากลูกค้าภายในหมู่บ้านแล้ว ยังมีตลาดจากภายนอก เช่น ถ้าทางกิจการโรงแรมหรือผู้ประกอบการทำเครื่องแกง แล้วต้องการตะไคร้หรือข่า ก็จะมาสั่งที่นี่ แต่ถ้าทางสวนของป๊ะมีไม่พอ ก็จะไปหาของเครือข่ายในหมู่บ้าน เป็นการกระจายรายได้ให้ทุกคนในเครือข่าย ทุกคนไม่รู้ว่าตัวเองทำเศรษฐกิจพอเพียง แต่ทุกคนปลูกผัก ปลูกพืชไว้กินเอง ทุกบ้านจะต้องมีตะไคร้ พริก มะนาว ต้นมะม่วง ต้นกล้วย ฯลฯ ไม่ว่าอะไรที่เป็นเครื่องครัวที่ไม่จำเป็นต้องซื้อเอง ถ้าเราไปถามเขาที่บ้านว่า ป้า ลุง ทำเศรษฐกิจพอเพียงไหม เขาบอกไม่ถูกว่าทำหรือไม่ทำ แต่เขาจะ “รู้จักออม รู้จักเก็บ รู้จักปลูก รู้จักรักษา” ในการทำเกษตรกรรมของป๊ะเหรด ถือ “4ร” (รัก เรียน รู้ ระมัดระวัง) เป็นแรงขับเคลื่อนในการทำงาน 4ร ในที่นี้คือ เราต้องรักในอาชีพ รักแล้วเรียนรู้ เรียนให้รู้ว่าเราถนัดปลูกอะไร รู้ เช่น รู้ว่าการปลูกแตงกวาให้ได้ผลดีต้องใส่ปุ๋ยอะไร ดูแลยังไง การปลูกพริกให้ได้ผลดีต้องทำยังไง เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ต้องรู้ว่าต้องเลี้ยงยังไง แล้วนำขี้เป็ดขี้ไก่มาทำประโยชน์อะไร เมื่อรู้แล้วต่อไปต้องระมัดระวัง พอรู้ว่าเราปลูกอะไรแล้วได้ผล คำว่าระมัดระวังอย่างหนึ่ง คือ อย่าให้เสียหายเปล่าโดยไม่เกิดประโยชน์ ระมัดระวังในเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะเราทำเศรษฐกิจพอเพียง เราไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เงินมาวันละหมื่น วันละแสน เราจะได้มาเรื่อยๆวันละ 100 200 หรือ 300 บาท ระมัดระวังเรื่องอุปกรณ์ของเสีย เราต้องรักในการทำเกษตร ถ้าไม่รักทำไม่ได้ เพราะปลูกไปแล้วจะเสียเปล่า แต่ถ้าเรารัก เราจะรู้ว่าจะต้องไม่ไปไหน จะต้องอยู่กับผัก อยู่กับเป็ดกับไก่ เราถึงจะทำเกษตรได้อย่างประสบผลสำเร็จ บ้านคลองบอนได้รับรางวัล หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ประจำปี 2559 ได้รับการผ่านประเมินจากพัฒนาสังคมจังหวัด เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัด ในปีนั้นได้รับโล่พระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย โดยคนในหมู่บ้านใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่อดีต “หาอยู่ หากิน พออยู่ พอกิน” เป็นการดูแลพึ่งพาตนเอง เกือบทุกบ้านจะมีการปลูกผักข้างบ้านที่ไม่ใช่ผักอายุสั้น เช่น ขิง ข่า ตะไคร่ ฯลฯ นี่คือวิถีชีวิตของชาวบ้านคลองบอน วันที่สองผมออกไปสำรวจหมู่บ้านบนเกาะ และไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน เมื่อกลับบ้านมาช่วงบ่าย ผมเจอม๊ะแดง กำลังเตรียมอาหารไว้ให้ (ผมและเพื่อนอีก 2 คนได้บ้านม๊ะแดงเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับการลงเกาะในครั้งนี้) ในขณะที่เรานั่งรับประทานอาหารกัน ผมถามม๊ะว่า ทำอาชีพอะไร “เมื่อก่อนม๊ะทำอาชีพประมง” วัลณี เสมารักษ์ หรือใครๆมักจะเรียกว่า “ม๊ะแดง” ขยายความข้อสงสัยและเล่าให้ฟังอีกต่อว่า “ตอนทำประมงต้องนั่งเรือหางยาวไปตั้งแต่หัวรุ่ง หุงข้าวห่อไปกินบนเรือ จะกลับมาประมาณเที่ยง ๆ ถึงบ่ายโมง ม๊ะกับป๊ะออกทะเลส่งลูกเรียนจนจบ 4 คน ปลาที่หามาได้จะนำมาขายที่แพรับซื้อในหมู่บ้าน จากนั้นก็เลิกทำอาชีพประมง แล้วหันมากรีดยาง เมื่อเวลาผ่านไป ยุคเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำ ราคายางถูกจึงเลิกกรีดยาง เมื่อเกาะยาวเริ่มเปิดการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในเกาะยาวใหญ่มากขึ้น มีการสร้างรีสอร์ทขึ้นหลายแห่ง ครอบครัวของม๊ะจึงหันมาทำทัวร์พานักท่องเที่ยวนั่งเรือชมเกาะ โดยในหมู่บ้านจะมีชมรม กลุ่มเรือหางยาว ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะจัดระเบียบการรับลูกค้าแบ่งเป็นคิวหมุนเวียนกันไป มีการตั้งเป็นออฟฟิศทัวร์เพื่อที่แขกจะได้ติดต่อได้ง่ายแล้วส่งเข้ามาในชมรมนี้ โปรแกรมการท่องเที่ยวของกลุ่มเรือหางยาวมีหลายเกาะ หลายโปรแกรม ไม่ว่าจะเป็น เกาะห้อง เกาะตะปู เกาะพีพี เกาะไข่ ทริปตกปลา เป็นต้น โดยเรือจะวิ่งตามคิว ซึ่งแล้วแต่ความต้องการ และความสนใจของแขกว่าแขกต้องการไปเที่ยวที่ไหน เหมาจ่ายเที่ยวละ 3,000 บาท ไม่เกิน 4 คน แต่ถ้าเกินจะเพิ่มคนละ 500 บาท เงินที่ได้มาจะถูกหักค่านายหน้าก่อนเจ้าของเรือจะได้ ถ้าได้มา 3,000 บาท หักค่านายหน้า 1,000 เจ้าของเรือได้ 2,000 บาท รายได้ของแต่ละคิวอาจไม่เท่ากัน อยู่ที่ดวงของแต่ละคน อาจจะได้นักท่องเที่ยวมาก หรือบางทีอาจจะได้นักท่องเที่ยวน้อย” วันสุดท้ายของการเรียนรู้วิถีชีวิตบนเกาะ ผมตื่นมาด้วยความรู้สึกใจหาย บ่นในใจ “วันนี้เราต้องกลับไปเผชิญโลกแห่งความจริงแล้วสินะ เวลาผ่านไปรวดเร็วจริง ๆ” อาบน้ำ เก็บกระเป๋า แล้วมานั่งกินข้าวกับม๊ะแดงเป็นมื้อสุดท้าย ไม่ว่าวันไหนกับข้าวฝีมือม๊ะก็อร่อยเสมอ ผมบอกม๊ะว่า “วันนี้แต่งตัวสวย ๆ นะ ไปถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกกัน” ม๊ะยิ้มด้วยสีหน้าที่มีความสุข เวลา 12.00 นาฬิกา คือเวลาเที่ยงตรงที่ทุกคนต้องไปรวมตัวกันที่ชั้น 2 ณ อาคารประมงเพื่อทำการอำลาเจ้าบ้าน ทั้งพวกเราและม๊ะต่างน้ำตาคลอ บางคนถึงกับร้องไห้ออกมา ถึงแม้จะเป็นเวลาเพียง 3 วัน 2 คืน ก็ทำให้เกิดความผูกพันได้ ทั้งมิตรภาพและความประทับใจจะยังคงตราตรึงในใจพวกเราตลอดไป ก่อนขึ้นรถ ผมได้กอด ม๊ะแดง และพูดขอบคุณที่คอยดูแล ต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี ม๊ะพูดว่า “บ้านม๊ะต้อนรับเสมอ ถ้าว่าง ๆ ก็เข้ามาเที่ยวได้” จากนั้นผมก็ขึ้นรถเดินทางออกจากหมู่บ้านไปยังท่าเทียบเรือ Speed Boat แล่นออกจากเกาะไปเรื่อย ๆ ผมได้แค่นั่งมองภาพเกาะยาวใหญ่ค่อย ๆ หายไปจากตา การที่ได้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านคลองบอน ทำให้ผมรู้ว่าคนที่นี่มีน้ำใจ เป็นมิตรไมตรีต่อผู้ที่มาเยือน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันชาวบ้านใช้ชีวิตเรียบง่าย พึ่งพาตนเองเป็นหลัก ผมได้เห็นครอบครัวหลายครอบครัวเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน มีความคิดที่จะพัฒนาโดยไม่หยุดอยู่กับที่ เห็นคนในครอบครัวตื่นเช้ามาช่วยกันเก็บผัก รดน้ำพืชสวน เห็นสีหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสุข รอยยิ้มที่ออกมาจากใจจริง ๆ นอกจากนี้เกาะยาวใหญ่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม เงียบสงบ เหมาะแก่การมาพักผ่อน ซึ่งตอนนี้เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ในอนาคต…เราอาจจะได้เห็นวิธีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนบนเกาะยาวใหญ่ ขอบคุณที่เข้ามาอ่านบทความของผมนะครับ ถ้ามีโอกาสอยากให้ทุกคนลองไปใช้ชีวิตกับชาวบ้านบนเกาะยาวใหญ่กันสักครั้ง รับรองว่าจะเป็นความทรงจำที่น่าประทับใจครั้งหนึ่งในชีวิตแน่นอน //