ปัจจุบันคนภาคเหนือยังคงอนุรักษ์การใช้ภาษาถิ่น หรือที่เรียกกันว่า "คำเมือง" ในการสนทนาในชีวิตประจำวัน สำหรับคนต่างถิ่นที่เข้ามาอาศัยในภาคเหนือ จะต้องมีประสบการณ์กับการสนทนากับคนท้องถิ่นในภาคเหนือหรือ "คนเมือง" อย่างแน่นอน แม้ว่าคนเมืองจะพยายามพูดภาษากลาง แต่หลายครั้งก็หลุดคำศัพท์เฉพาะถิ่นออกไป เพราะเราคุ้นชินกับคำเหล่านี้ในชีวิตประจำวันจนนึกคำในภาษากลางไม่ออก คนต่างถิ่นถึงกับงง ไปต่อไม่เป็นเลยทีเดียว ลักษณะนี้เป็นการ "พูดไทยสาบเมือง" ค่ะ หลายคนอาจจะสงสัยว่า "พูดไทย" คืออะไร คนท้องถิ่นภาคเหนือจะนิยมเรียกคนภาคกลางว่าคนไทยค่ะ เป็นอิทธิพลของประวัติศาสตร์ในอดีตที่ท้องถิ่นภาคเหนือคืออาณาจักรล้านนาซึ่งเป็นรัฐอิสระ ในสมัยนั้น พื้นที่ในภาคกลางจะเป็นของอาณาจักรอยุธยา สืบเนื่องมาจนถึงอาณาจักรรัตนโกสินทร์ จึงได้รวมอาณาจักรล้านนาและภูมิภาคอื่น ๆ เข้าเป็นประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วน "สาบเมือง" นั้น คำว่า "สาบ" ในภาษาเหนือหมายถึงการได้กลิ่นอะไรสักอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกลิ่นเหม็น เมื่อนำมารวมกับคำว่า "เมือง" ซึ่งในที่นี้หมายถึง ท้องถิ่นภาคเหนือ แปลว่า ได้กลิ่นของความเป็นภาคเหนือ สรุปแล้วคำว่า "พูดไทยสาบเมือง" เป็นอาการของคนที่พูดภาษากลาง แต่มีสำเนียงหรือการใช้สำนวนภาษาแบบคนท้องถิ่นภาคเหนือค่ะ เล่าถึงที่มาค่อนข้างยาว คิดว่าเพื่อน ๆ ทั้งคนท้องถิ่นภาคเหนือและภาคอื่น ๆ น่าจะเข้าใจสถานการณ์เหล่านี้ดีใช่ไหมคะ การพูดไทยสาบเมืองนั้นเกิดขึ้นได้กับคนเมืองทุกคนที่พูดภาษากลางกับคนต่างถิ่น วันนี้ผู้เขียนจะขอมาแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ในฐานะของคนท้องถิ่นภาคเหนือ ที่เคยมีประสบการณ์กับตัวเองและคนรอบข้างค่ะ ลองอ่านดูนะคะ ว่าใครเคยพูดหรือได้ยินคำเมืองเหล่านี้ในภาษากลางหรือเปล่า"ส้ม" คำแรกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรสชาติอาหารค่ะ คนเมืองจะใช้คำว่า "ส้ม" สำหรับสิ่งที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งก็มีคำเมืองหลาย ๆ คำ ที่ใช้คำว่าส้มเป็นคำประสม เช่น บ่าเขือส้ม หากออกเสียงในภาษากลางก็คือ มะเขือส้ม คือมะเขือเทศลูกเล็ก ๆ แบบพื้นเมือง ที่มีรสชาติอมเปรี้ยวเล็กน้อย แต่คนเมืองจะเรียกมะเขือเทศทุกสายพันธุ์รวมกันว่า มะเขือส้ม ซึ่งเป็นคำที่เผลอพูดแล้ว "สาบเมือง" ได้ง่าย ๆ อย่างเช่น ฝากเพื่อนที่เป็นคนต่างถิ่นซื้อ "มะเขือส้ม" คงได้มะเขือพันธุ์ที่มีสีส้มมาแทนมะเขือเทศแน่นอน Source : Pixabay โดย RitaEอีกตัวอย่างหนึ่งคือ "มดส้ม" หมายถึง มดแดงในภาษากลางนั่นเอง ด้วยความเคยชินของคนเมืองที่เรียกตามลักษณะของมันที่เป็นสีส้มและมีรสเปรี้ยว คนเมืองนิยมนำไข่ของมันมาทำอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ จึงเรียกมดส้ม ๆ จนติดปาก ถ้าให้เรียกเป็นภาษากลาง ก็นึกไม่ออกว่าเขาใช้คำว่าอะไร แต่คนภาคอื่นก็พอเดาได้จากลักษณะตัวของมดชนิดนี้ Source : Pixabay โดย Nghangvuตัวอย่างสุดท้ายคือ "ตำส้ม" คนเมืองจะอ่านออกเสียงเป็น ต๋ำส้ม ไม่ใช่ส้มตำที่เอาส้มมาเป็นวัตถุดิบ แต่เป็นส้มตำพื้นฐานทั่ว ๆ ไปที่เรากินนี่แหละค่ะ แค่สลับตำแหน่งคำนิดหน่อย ซึ่งส้มตำเป็นอาหารที่มีรสชาติจัดจ้านครบรสทั้งเปรี้ยว เผ็ด เค็ม จึงเป็นที่มาของการเรียกส้มตำว่า ตำส้ม ค่ะ คำนี้แรก ๆ คนต่างถิ่นอาจจะงงเล็กน้อย แต่ก็พอเข้าใจความหมายโดยเดาจากบริบทของคำได้ค่ะ Source : Pixabay โดย falovelykids"ครัว" หรือออกเสียงแบบคนเมืองจะไม่มี ร ควบกล้ำ เป็น "คัว" ไม่ได้หมายถึงสถานที่ที่ทำอาหารนะคะ แต่หมายถึง ข้าวของเครื่องใช้ค่ะ ผู้เขียนทดลองพิมพ์คำว่า ครัว แปลว่า ใน Google ก็ได้ความหมายออกมาทั้งภาษากลางและภาษาเหนือเลยค่ะ อย่างไรก็ตาม คนภาคอื่นที่ไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ถ้าคนเมืองเผลอพูดคำนี้ออกมาขณะพูดภาษากลาง และไม่มีบริบทที่สื่อถึงความหมายที่แท้จริง ยกตัวอย่าง "ฉันจะไปซื้อครัวที่อินเด็กซ์ เดี๋ยวก็มา" ที่จริงแล้ว ผู้พูดอาจจะต้องการซื้อข้าวของเครื่องใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ผู้ฟังอาจเข้าใจว่า ผู้พูดจะไปซื้ออุปกรณ์สำหรับทำครัวแบบยกชุด เพราะด้วยสถานที่ที่จะไปก็เป็นที่ขายอุปกรณ์แต่งบ้าน แต่ถ้าเปลี่ยนจากอินเด็กซ์เป็นที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำครัว อาจจะพอเดาได้บ้าง"หนุ่ม" ในความหมายของคนเมือง ไม่ได้มีความหมายเจาะจงถึงผู้ชายหรือว่าคนที่ดูอ่อนเยาว์เหมือนภาษากลาง แต่หมายถึง คนที่มีอายุยังไม่ถึงวัยกลางคน ยกตัวอย่าง พูดถึงพนักงานคนหนึ่งในร้านสะดวกซื้อ โดยอธิบายลักษณะว่า "เป็นผู้หญิงผมยาว สูงใส่แว่น ยังหนุ่มอยู่" อาจสร้างความสับสนให้ผู้ฟังที่เป็นคนต่างถิ่นได้ว่า ตกลงแล้วพูดถึงผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่ถ้าเข้าใจถึงความหมายอีกบริบทหนึ่ง ก็จะพอเข้าใจได้ว่า หมายถึงว่าอยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาว ซึ่งบางทีก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่า จะหาคำในภาษากลางคำใดมานิยามความหมายนี้Source : Pixabay โดย fjord77"มีไหน" "มี (สถานที่)" สองคำนี้เป็นประโยคที่สมบูรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ คำว่า "มี" สามารถใช้ได้หลายบริบท ซึ่งในคำเมืองนั้นสามารถแปลว่า "อยู่" ได้ด้วย เช่น ผู้ถามถามเพื่อนว่า "มีไหน" และเพื่อนตอบว่า "มีบ้าน" ไม่ได้แปลว่าผู้ตอบเป็นเจ้าของบ้าน แต่หมายถึง ผู้ตอบอยู่ที่บ้าน สำหรับคำนี้ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันได้อยู่ไม่น้อย หากผู้ฟังไม่เข้าใจความหมายตามบริบทของคำถาม "จะไป" สำหรับคำเมืองนั้นมีความหมายที่เรียกว่าขัดแย้งกับความรู้สึก เพราะแปลว่า "อย่า" ยกตัวอย่างประโยคที่คนต่างถิ่นถึงกับไปไม่ถูก "เธอจะไปไปต่างจังหวัดช่วงนี้นะ ไวรัสโควิดระบาด" แน่นอนค่ะ ไปไม่ถูกแน่นอน มีคำว่า ไป ซ้อนกันตั้งสองคำ จะเน้นย้ำว่าต้องไปให้ได้นะ หรือว่าอย่าไปนะกันแน่ นี่ขนาดว่าพูดไทยทุกคำนะคะ คนต่างถิ่นยังเจ็บหัวขนาดหนักSource : Pixabay โดย mohamed_hassanว่าแล้วก็ขอปิดด้วยคำที่อยู่ในชื่อบทความนี้เลยค่ะ "เจ็บหัว" ไม่ได้แปลว่ามีบาดแผลที่หัวนะคะ แต่หมายถึง ปวดหัว ค่ะ แต่สำหรับคำว่า เจ็บ แล้วตามด้วยอวัยวะอย่างอื่น ก็มีความหมายเดียวกับภาษากลางเลยค่ะ ถ้าบอกเพื่อนว่า "ฉันเจ็บหัว เอายาพาราให้หน่อย" เพื่อนก็คงงงไม่น้อยนะว่า มีแผลที่หัวทำไมไม่ทำแผล กินยาพาราทำไม และอีกคำหนึ่งที่มาคู่กันคือ "เมาหัว" ผู้เขียนนึกไม่ออกว่า ภาษากลางเขาว่าอย่างไร จริง ๆ แล้วคือคำว่าเวียนหัว มึนหัวนั่นเองค่ะ เชื่อไหมว่าไม่ชินเลยที่ต้องใช้คำนี้ หลาย ๆ ครั้งผู้เขียนก็จะพูดคำนี้ออกไปโดยอัตโนมัติเวลาพูดภาษากลาง มันหยุดไม่ได้จริง ๆ ปากไปไวกว่าสมองตลอดเลย ยังมีคำพูดไทยสาบเมืองอีกเยอะเลยค่ะที่บางทีคนเมืองก็เผลอพูดไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็เป็นเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนท้องถิ่นภาคเหนือที่ดูแล้วน่ารักไปอีกแบบ แต่วันนี้ผู้เขียนก็เริ่มเมาหัวโจ้น ๆ แล้วนะคะ อาจจะต้องพักแต่เพียงเท่านี้ก่อนจะเจ็บหัวไปมากกว่านี้ สุดท้ายไม่สาบเมืองแล้ว ขออู้เมืองแต๊ ๆ ไว้ปะกันใหม่ สวัสดีเจ้า ภาพปก : Pixabay โดย Jorsh13