รีเซต

ลุ้นผล วัคซีนป้องกันโควิด-19 เบื้องต้น 13 ชนิดกำลังรอเข้าเส้นชัย

ลุ้นผล วัคซีนป้องกันโควิด-19  เบื้องต้น 13 ชนิดกำลังรอเข้าเส้นชัย
TNN ช่อง16
23 พฤศจิกายน 2563 ( 18:20 )
147
ลุ้นผล วัคซีนป้องกันโควิด-19  เบื้องต้น 13 ชนิดกำลังรอเข้าเส้นชัย

วันนี้ (23พ.ย.63) ความคืบหน้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากทั่วโลก เบื้องต้นมี 13 ชนิดที่กำลังรอเข้าเส้นชัย โดยอยู่ระหว่างการทดลองในมนุษย์ระยะ 3 โดย มีวัคซีน 2 ชนิดที่มีความคืบหน้ามากที่สุด คือจาก โมเดอร์นา และ ไฟเซอร์

ขณะที่ไทยตอนนี้ กำลังเข้าสู่การจองโรงงงานผลิตวัคซีน ชนิด mRNA เพื่อผลิตวัคซีนต้นแบบคาดเริ่มเดือนเมษายน โดยผู้อำนวยการพัฒนา​วัคซีน​โควิด​-19 คณะแพทยศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์​มหา​วิทยาลัย​ เผยงบพัฒนาวัคซีนโควิด ถึงแม้ได้รับวงเงินจัดสรรมา แต่ก็ทยอยมา ทำให้จัดสรรลำบากและมีความล่าช้า 

ศ.นพ.เกียรติ​ รักษ์​รุ่งธรรม​ ผู้อำนวยการพัฒนา​วัคซีน​โควิด​-19 คณะแพทยศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์​มหา​วิทยาลัย​ ระบุว่า ตอนนี้ทั่วโลกมีวัคซีน 13 ชนิดที่กำลังรอเข้าเส้นชัย  ซึ่งมี 2 ชนิดที่มีความคืบหน้ามากที่สุด ซึ่งวัคซีนชนิด mRNA ของสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะเริ่มเห็นผลที่ชัดเจนในปลายปีนี้ ตามมาด้วย เป็นวัคซีนของ บริษัท โมเดอร์นา สหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน 

ส่วนวัคซีนที่เหลืออีก 11 ชนิด ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการทดลองในระยะที่ 3 ซึ่งก็ยังไม่รู้ผลว่าจะเข้าเส้นชัยได้ทั้งหมดกี่วัคซีน 

ปัจจัยสำคัญคือ ต้องดูว่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะมีภูมิคุ้มกันที่สูงขนาดไหน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย หากเชื้อไวรัสตัวนี้ สามารถที่จะถูกบล็อคได้ง่ายด้วยภูมิที่ไม่สูงมาก เชื่อว่าวัคซีน 11 ชนิดนี้จะสามารถได้ประสิทธิผลดี" 

อย่างไรก็ตามข่าวดี คือ มีการพิสูจน์แล้วว่า ไวรัสโคโรน่า 2019 สามารถที่จะป้องกันด้วยวัคซีนได้ แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ ประสิทธิผลของวัคซีนจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากน้อยขนาดไหน 

สิ่งที่ท้าทายต่อจากนี้ คือ ทั้งโลกจะมีวัคซีนที่เข้าถึงได้เร็วแค่ไหน โดยประเทศที่รวย มีเงินถึง เขาก็สามารถที่จะจองได้ก่อน อย่างวัคซีนของสองบริษัทในสหรัฐอเมริกา คาดว่าปลายปีนี้จะสามารถมีการผลิตได้อย่างน้อย บริษัทละ 30 ล้านโดส ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็ได้ทำการเหมาจองไว้เรียบร้อยแล้ว โดยประเทศอังกฤษก็ได้มีการพูดคุยและขอแบ่งในวัคซีนชนิดนี้ด้วย 

จากการติดตาม เห็นว่า 2 บริษัทนี้ ในต้นปีหน้า และทั้งปี คาดการณ์ จะมีการผลิตได้ถึง พันล้านโดส รวม2 บริษัท ประมาณ2พันล้านโดส หากเป็นเช่นนั้นจริงวัคซีนก็สามารถที่จะเข้าถึงได้ โดยแต่ละประเทศก็ต้องไปจัดสรรแบ่งวัคซีนที่ได้มาเน้นกลุ่มเสี่ยงก่อนเป็นสำคัญ เช่นกลุ่มแรก บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่ 2 กลุ่มความเสี่ยงสูงเช่นผู้สูงวัย กลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่อาจติดเชื้อแล้วมีโอกาสอาการหนัก 

ส่วนประเทศไทยในการพัฒนาวัคซีน มองว่า ตอนนี้ไทยเดินมาถูกทางแล้ว ในการทำ 3 นโยบายคู่ขนานกัน 

1. ไทยเข้าร่วมสมาชิก โคแวกซ์ (โคแวกซ์ คือ กลุ่มที่รวมสมาชิกเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ ที่จับมือร่วมกับ มูลนิธินานาชาติหลายองค์กร เพื่อจะได้มีสิทธิ์ไปต่อรองราคาในการเข้าถึงวัคซีน) ซึ่งไทยก็ได้อนุมัติงบตรงนี้ กว่าพันล้านบาทในการเข้าร่วมเพื่อจะได้มีสิทธิ์มีเสียงในเรื่องของวัคซีน 

2. การที่ประเทศไทยบริษัทสยามไบโอไซน์จับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ แอสตร้าเซเนก้า เพื่อที่จะรับผลิตวัคซีนของเขาและถ่ายก็จะสามารถที่จะแบ่งวัคซีนมาได้ด้วย ตั้งเป้า ได้ปีหน้า 20ล้านโด๊สหากมีการแบ่งจัดสรรมา ในส่วนนี้รัฐบาลไทยอนุมัติงบไปแล้วประมาณ 6,000 ล้านบาท 

3. รัฐบาลให้ทุนหน่วยงานรัฐและเอกชน พัฒนาวิจัยวัคซีนในประเทศ โดยมีสถาบันวัคซีนแห่งชาติในการเข้ามาดำเนินการ 

ศ.นพ.เกียรติ ยังบอกอีกว่า เมื่อการพัฒนาวัคซีนถึงการทดลองในมนุษย์แล้ว ลำดับต่อไปที่สำคัญคือ การตรียมพร้อม จัดตั้งโรงงานในการผลิตวัคซีนขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เม็ดเงินในการเข้ามาช่วย ซึ่งรัฐบาลต้องกล้าที่จะลงทุน โดยยอมรับที่ผ่านมาการขับเคลื่อนวิจัยวัคซีนได้รับความร่วมมือทางวิชาการทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

แต่งบประมาณส่วนที่ได้จากรัฐ300 ล้าน บาท ได้แบบทยอยมา อาจไม่ทัน ทำให้ต้องระดมทุนจากภาคเอกชนเข้ามาช่วย อีกทั้งคาดการณ์ไว้ว่า งบประมาณในการจัดตั้งโรงงานผลิต อาจสูงถึง1000 ล้านบาท ทำให้ต้องระดมทุนจากภาคเอกชนเข้ามาช่วย 

ขณะที่ ศ. ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุว่า วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์มี ประเด็น คือ การเก็บวัคซีนต้องอยู่ที่ -70 และ -80 องศาเซลเซียสซึ่งยากมาก

ขณะที่วัคซีนของ โมเดอร์นา สามารถที่จะเก็บในตู้เย็นทั่วไปได้ ซึ่งวัคซีนชนิดดังกล่าวได้มีการจองไปเกือบหมดแล้ว โอกาสที่จะหลุดมายังประเทศไทยค่อนข้างที่จะน้อย 

แต่ภายใต้ข้อตกลงที่ประเทศไทยทำร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ แอสตร้าเซเนก้า พอครบการทดลองทั้ง 3 ระยะ ก็จะทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้กับบริษัทสยามไบโอไซฯ ซึ่งตอนนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว แต่ก็มีข้อจำกัดของการผลิต คือ บริษัทสยามไบโอไซฯ ไม่สามารถที่จะผลิตเพื่อรองรับทั้งประเทศในระยะเวลาอันสั้นได้ ซึ่งต้องทยอยออกมา พร้อมกับข้อตกลงที่ว่า หากมีการผลิตในล็อตแรกออกมาจะต้องมีการแบ่งปันให้กับประเทศอย่างไรบ้าง 

หากทั่วโลกจะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพียงพอที่จะจัดการกับโรคนี้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้ง 11 บริษัทที่ทำการพัฒนาผลิตวัคซีน ขณะที่ประเทศจีนก็มีการพัฒนาผลิตวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีที่ต่างกันออกไปคาดว่าจะทยอยออกมา พร้อมกัน ย้ำว่าแต่ละคนมีการตอบสนองต่อวัคซีนที่แตกต่างกัน

บางรายอาจจะตอบสนองต่อเทคโนโลยีของวัคซีนชนิดนี้ บางรายอาจจะไม่ตอบสนอง จำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนอีกเทคโนโลยีหนึ่งในการรักษา อย่างน้อยตอนนี้ก็มี 4 เทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนที่มีแนวโน้มมีประสิทธิภาพดี หากมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขึ้นลำดับต่อไปคือการต้องจัดประเทศกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีน ก่อนที่จะมีการขยายให้ได้รับอย่างทั่วถึง" 

ส่วนความคืบหน้า การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนของ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ตอนนี้ มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยมีการนำอุปกรณ์บางส่วนมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อไหร่ ที่บ. แอสตร้าเซเนก้า ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตมาได้ ทางบริษัทสยามไบโอไซ ก็พร้อมที่จะผลิตได้ทันที โดยกระบวนการในการผลิตวัคซีนก็จะอยู่อีก 5-6 เดือน รวมถึงจะต้องมีการผ่านการทดสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอีก ว่าได้ประสิทธิผลจริง 

ระหว่างที่รอวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตอนนี้แนะนำให้คนไทยใช้วัคซีนที่เป็นชื่อของตัวเองนั่นก็คือ การป้องกันตัวเองตามมาตรการสาธารณสุข ใส่หน้ากากอนามัยฯ ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ซึ่งเป็นวัคซีนที่ดีที่สุด

ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ ยังระบุอีกว่า แนวโน้มโรคอุบัติใหม่จากไวรัสจะมีมาอีก ที่ผ่านมาจะเห็นว่า ส่วนใหญ่โรคอุบัติใหม่ จะมีการจู่โจมที่เกี่ยวกับการโรคทางเดินหายใจ เราจึงเป็นที่ต้องเตรียมพร้อม อย่างการถอด บทเรียนโควิด- 19 ในเรื่องของวัคซีน หรือการมองหาความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่บางประเทศสามารถที่จะผลิตวัคซีนได้อย่างเช่นประเทศอินโดนีเซียซึ่งเราอาจจะไปลงทุนให้ และมีการตกลงกันในการจำหน่าย เป็นต้น.

จับตา ทั่วโลก พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 รอลุ้นผล

- วัคซีนชนิดmRNA บริษัท โมเดอร์นา สหรัฐฯ

- วัคซีนชนิด mRNA บริษัท ไฟเซอร์ ของสหรัฐฯ กับบริษัท ไบโอเทค ประเทศเยอรมันนี

- วัคซีนชนิด 'อะดีโนไวรัส' หรือ ‘Ad5’ บริษัท แคนซีโน ไบโอโลจิกส์   จีน 

- วัคซีน  'Gam-Covid-Vac' สถาบันวิจัย กามาเลยา กระทรวงสาธารณสุข  รัสเซีย

- วัคซีน Ad26 ของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บริษัทยาของสหรัฐฯ กับ ศูนย์การแพทย์ เบธ อิสราเอล ดีคอนเนส 

- วัคซีนChAdOx1 บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน 'แอสตราเซเนก้า'กับ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

- วัคซีนของ โนวาแว๊กซ์ บริษัทยาในรัฐแมรีแลนด์ ของสหรัฐอเมริกา

- วัคซีนใบยาสูบ  ของ เมดิคาโก บริษัทเทคโนโลยีชีววิทยาของแคนาดา 

- วัคซีนไวรัสที่ตายแล้ว ของ บริษัท ซีโนฟาร์ม ของรัฐบาลจีน 

- วัคซีนโคโรนแวค บริษัท ซีโนแวค ไบโอแทค บริษัทยาเอกชนของจีน

- วัคซีนโคแวกซิน บริษัท บารัต ไบโอเทค กับ สภาวิจัยการแพทย์ และ สถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติ ของอินเดีย


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง