เป้าหมายของพุทธศาสนาคือการละตัวตน ละกิเลส เพื่อพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องมีความทุกข์เป็นการถาวร แต่คนส่วนใหญ่เรียนรู้พุทธศาสนาแบบผิดๆ คือทำตามคนอื่น เชื่อในพิธีการของคนอื่นจนห่างไกลจากความเป็นพุทธไปมากขึ้นทุกที ท่านพุทธทาสภิกขุต้องการให้ชาวพุทธเข้าใจแก่นของพุทธศาสนาให้มากขึ้น โดยเฉพาะความรู้สึกมีตัวตนหรือตัวกู ของกู ที่เรียกได้ว่าถอดถอนยากที่สุด เพราะมันบ่งบอกถึงตำแหน่งสถานะของตัวเราเอง ความเป็นเจ้าของที่เรายึดครอง แต่มันมีผลแค่ในอายุขัยของเรา มันไม่ได้ถาวร มันจะไร้ความหมายในวันที่เราจากโลกนี้ไปแล้ว ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์ 1.ใจความโดยสรุปคือ มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน กับมีศีลชนิดที่พระอริยเจ้าชอบใจ คือเป็นศีลชนิดที่ผู้นั้นเองก็ติเตียนตนเองไม่ได้ และการไม่มีความเชื่อหรือปฏิบัติอย่างงมงายในเรื่องต่างๆ พระองค์ทรงแสดงเรื่องสุญญตาแก่บุคคลผู้ครองเรือน เพราะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เขาตามที่เขาขอร้องตรงๆ พระพุทธองค์ประสงค์จะให้พวกฆราวาสรับเอาเรื่องสุญญตาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะมันไม่มีเรื่องอื่นที่ดีกว่านี้จริงๆ ส่วนเรื่องที่ลดหลั่นลงไปจากเรื่องสุญญตานั้นก็ได้แก่ข้อปฏิบัติที่ทำให้เป็นพระโสดาบันนั่นเอง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเตรียมตัวสำหรับการบรรลุนิพพานโดยตรง 2.การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องสุญญตาแก่ฆราวาส ก็ต้องมีความหมายว่า ปัญหายุ่งยากต่างๆ ของฆราวาสต้องแก้ด้วยหลักสุญญตา ความเป็นไปในชีวิตประจำวันของฆราวาสจะต้องถูกควบคุมอยู่ด้วยความเข้าใจถูกต้อง ในเรื่องอันเกี่ยวกับจิตว่าง เขาจะทำอะไรไม่ผิด ไม่เป็นทุกข์ขึ้นมา ก็เพราะมีความรู้ในเรื่องสุญญตามาคอยกำกับจิตใจ ถ้าผิดจากนี้แล้ว ฆราวาสก็คือพวกที่จะต้องหัวเราะและร้องไห้สลับกันไปไม่มีที่สิ้นสุด และเพื่อที่จะให้ฆราวาสไม่ต้องเป็นเช่นนั้น พระองค์จึงได้สอนเรื่องสุญญตาแก่ฆราวาสในฐานที่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาส” หลักพุทธศาสนาอันสูงสุดนั้นมีเรื่องเดียว คือเรื่องสุญญตาหรือจิตว่าง ใช้ได้แม้แต่พวกฆราวาสทั่วไป และมุ่งหมายที่จะดับทุกข์ของฆราวาสโดยตรง 3.สุญญตาโดยทางอ้อม หาใช่เป็นเรื่องทำบุญให้ทานด้วยการไม่วายที่พวกนักอธิบายธรรมะในชั้นหลังๆ จะดึงเอาเรื่องเหล่านี้มาเกี่ยวข้องกับสวรรคสมบัติ หลอกโฆษณาชวนเชื่อยิ่งขึ้นทุกที จึงทำให้เรื่องที่เป็นบันไดขั้นต้นของนิพพานหรือของสุญญตาลบเลือนไป จนพวกเราสมัยนี้ไม่มีโอกาสที่จะฟังเรื่องสุญญตา หรือนำเอาเรื่องสุญญตาอันเป็นตัวแท้ของพระพุทธศาสนามาใช้ในการบำบัดทุกข์ประจำวันอันเป็นความประสงค์ที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า 4.โสตาปัตติยังคะ” ก็คือ ศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และความมีอริยกันตศีล รวมทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นการเตรียมตัวเพื่อบรรลุสุญญตาหรือนิพพาน ศรัทธา (ความเชื่อ) จะยังไม่แน่นแฟ้นแท้จริงเรื่องสุญญตา คือเรื่องสูงสุดที่ดับทุกข์ได้จริง และพระธรรมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องอะไรอื่นนอกไปจากเรื่องทั้งหมดของสุญญตาที่ดับทุกข์จนกว่าจะได้มองเห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ได้จริง กล่าวคือ คำสอนและการปฏิบัติ รวมทั้งผลที่มีมาจากความไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง ส่วนพระสงฆ์นั้นก็คือ ผู้ที่ปฏิบัติและได้รับผลการปฏิบัติเช่นนั้น เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ศรัทธาจึงจะแน่นแฟ้นมั่นคง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน กล่าวคือ จะไม่เลื่อมใสในศาสดาอื่นๆ 5.คนเราล่วงศีลทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ หรือทั้งๆ ที่พยายามจะไม่ให้ล่วงมันก็ล่วงจนได้ ยิ่งไปบีบบังคับหนักเข้ามันก็ยิ่งมีปฏิกิริยามากขึ้น แต่ถ้าหากมีทางระบายความกดดันอันนี้ออกเสียได้ ด้วยความรู้เรื่องสุญญตาอยู่เสมอ ๆ แล้ว การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ก็จะมีได้โดยง่ายขึ้น ไม่มีการฝืนหรือต่อสู้อะไรมากมาย ศีลก็จะบริสุทธิ์ถึงขนาดเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าได้ 6.รู้สึกว่ามีตัวตน ของตน” นั่นแหละ เป็นตัวการที่หวังลาภสักการะสรรเสริญ ทั้งกามสุขในสวรรค์หรือความเป็นพรหม เพราะมันเป็นความรู้สึกที่อยากได้ อยากเป็น อยากเอา ถ้ามีการได้ การเป็นด้วยอุปาทานนี้เพียงใดแล้ว ความทุกข์ย่อมเกิดอยู่เสมอไป ต่อเมื่อเอาอุปาทานนี้ออกไปเสียแล้ว การได้การเป็นทั้งหลายจึงจะไม่เป็นทุกข์ 7.**สังโยชน์** หรือสิ่งที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มีทั้งหมด 10 อย่าง แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก: *ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ):* 1. สักกายทิฏฐิ - ความเห็นว่าตัวของตน 2. วิจิกิจฉา - ความลังเลสงสัย 3. สีลัพพตปรามาส - ความถือมั่นศีลพรต 4. กามราคะ - ความติดใจในกามคุณ 5. ปฏิฆะ - ความกระทบกระทั่งในใจ *ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องสูง):* 6. รูปราคะ - ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต 7. อรูปราคะ - ความติดใจในอรูปธรรม 8. มานะ - ความถือว่าตัวเป็นนั้นเป็นนี้ 9. อุทธัจจะ - ความฟุ้งซ่าน 10. อวิชชา - ความไม่รู้จริง ระดับของการละสังโยชน์ในบุคคลที่บรรลุธรรม - พระโสดาบัน ละสังโยชน์ 3 ข้อแรกได้ - พระสกทาคามี ทำให้สังโยชน์ข้อ 4 และ 5 เบาบางลง - พระอนาคามี ละสังโยชน์ 5 ข้อแรกได้หมด - พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง 10 ข้อ 8.ปฏิฆะ (ความขัดใจ) ก็มีมูลอันลึกซึ้งมาจากกาม ฉะนั้นถ้าละกามราคะเสียได้ ก็ย่อมเป็นการตัดต้นตอของปฏิฆะไปในตัว สำหรับคนธรรมดาสามัญนั้น อะไรๆ ก็รวมอยู่ที่กาม ขัดใจเพราะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือกลัวตายก็มีมูลมาจากกาม เพราะเขาอยากมีชีวิตอยู่เพื่อกาม ไม่อยากเจ็บไข้ก็เพื่อกาม ถ้าตัดความรู้สึกในเรื่องกามได้ ปฏิฆะความขัดเคืองในเรื่องความเจ็บไข้และความตายก็จะลดตาม ดังนั้นพระอนาคามีจะมีความประเสริฐมากน้อยเพียงไรก็เป็นสิ่งที่อาจจะรู้ได้จากคุณค่าแห่งความดับไปของ “อัตตา” ที่อยู่ไปด้วย 9.การดับตัณหาที่แท้จริงนั้น เรียกโดยบาลีว่า “อเสสวิราคนิโรธ แปลว่า ดับไม่มีส่วนเหลือด้วยอ่านาจของวิราคะ (คือการจางคลายของตัณหา) ซึ่งเกิดสืบต่อมาจากนิพพิทา (ความเบื่อหน่าย) เพราะเห็นแจ้งตามที่เป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็น “ตัวตน” หรือ “ของตน” การดับตัณหาด้วยอุบายและด้วยอาการอย่างหลังนี้เท่านั้นจึงเป็นการดับที่แท้จริง นอกไปจากนั้นก็เป็นการดับเพียงชั่วคราว หรือเป็นการเล่นตลก เช่นที่คนบางคนบริกรรม หรือภาวนาว่าดับตัณหา ๆ หรือบางคนก็ตั้งใจเอาเองว่าจะดับตัณหา โดยแกล้งทำเป็นเฉยต่อสิ่งทั้งปวง ด้วยการบังคับข่มขู่ แต่แล้วก็ไปไม่รอด เพราะมีกำลังไม่พอที่จะดับตัณหาอันมีกำลังมากมายนั้นได้ ที่ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ พวกคดโกงหลอกลวงผู้อื่นด้วยมายาต่างๆ ว่าตนเป็นผู้ดับตัณหาแล้ว หลอกลวงตนเองโดยตรงก็มี คือการคิดเอาดื้อๆ ว่าเราไม่ยินดียินร้าย ไม่มีผู้หญิงผู้ชาย ดังนี้เป็นต้น แต่แล้วก็ยังมีการกระทำชนิดที่เป็นไปตามอำนาจของตัณหาเต็มไปหมด เป็นการหลอกลวงตัวเองพร้อมกับหลอกลวงคนอื่นไปในตัว ซึ่งล้วนแต่เป็นการดับตัณหาที่คดโกง ที่ไม่แท้ถาวรทั้งนั้น ดังนั้นจึงเหลืออยู่แต่เพียงประการเดียวเท่านั้น คือการดับชนิดที่เรียกว่า “อเสสวิราคนิโรธ” อันมีมูลมาจากความเห็นแจ้งว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอย่างแท้จริงเท่านั้น 10.สำหรับความรู้หรือความเห็นแจ้งว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนี้ก็เหมือนกัน ต้องพึ่งเข้าใจว่ามันมีอยู่ 3 ระดับ คือ รู้ตามที่ได้ยินได้ฟัง (นี้เรียกว่าความรู้) รู้เพราะไปคิดค้นตามอำนาจของเหตุผล(นี้เรียกว่าความเข้าใจ) ส่วนความรู้ที่เกิดมาหลังจากได้ผ่านสิ่งเหล่านั้นๆไปแล้วด้วยการปฏิบัติอย่างครบถ้วนจนมีความรู้ซึมซาบในทุกสิ่งทุกอย่างทุกขั้นทุกตอน กระทั่งถึงผลที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิบัตินั้นๆ (นี้เรียกว่าความรู้แจ้งแทงตลอด) จึงจะทำให้เกิดนิพพิทา (ความเบื่อหน่าย) และส่งเสริมให้เกิดวิราคะ (การจางคลายของกิเลส) ที่สามารถเปลี่ยนความรู้สึกภายในจิตใจได้เอง ทีนี้ก็มาถึงประโยคที่ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”(สพฺเพ ธมฺมา นาล อภินิเวสาย) คำกล่าวประโยคนี้ควรจะถือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เพราะมีเรื่องราวกล่าวอยู่ในบาลีว่า เมื่อ มีผู้มาทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงประมวลคำสอนทั้งสิ้นให้เหลือเพียงประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียว พระองค์ก็ตรัสประโยคนี้ และทรงยืนยันว่านี่แหละคือใจความของคำสอนทั้งหมด ถ้าได้ปฏิบัติ ในข้อนี้ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมดของพระองค์ ทรงยืนยันว่า ถ้าได้ฟังคำนี้ก็คือได้ฟังทั้งหมด ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติข้อนี้ก็คือได้รับผลจากการปฏิบัติทั้งหมด ฉะนั้น เราจะมองเห็นได้ทันทีว่าการศึกษาธรรมะทั้งหมดก็คือเรียนเพื่อไม่ให้ยึดมั่นในสิ่งใดๆ 11.วิปัสสนาทำได้โดยวิธีการเพ่งพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา รู้เท่าทันธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เมื่อรู้ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสิ่งเหล่านั้นแล้ว ก็จะต้องไม่เกิดความอยากมี อยากเป็น หรือหลงใหลในสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป ถึงจำต้องมีต้องเป็นบ้างก็จะไม่มัวเมาจนลืมสภาพอันแท้จริงของมันนี้เป็นการละความโลภ โกรธ หลงงมงาย โดยอาศัยโลกุตตรธรรม 12.คนทั่วไปก็อดที่จะนึกคิดวาดภาพของความสนุกสนาน เอร็ดอร่อยในสิ่งที่มาล่อใจนั้นไม่ได้ เพราะการคิดนึกนี้มันก่อความกระสันให้อยากได้อยากเป็น มากกว่าการที่จะได้มาแล้วหรือเป็น แล้วจริงๆ จึงห้ามการนึกคิดประเภทที่เรียกว่า “สร้างวิมาน” หรือ“ฝันหวาน” ในเมื่อเผชิญกับของแปลกของใหม่ที่เข้ามายั่วยวนใจถึงจะรู้โดยสัมผัสทางประสาทแล้ว (วิญญาณ) ก็ให้มันเป็นเพียงแค่รู้ ดังที่พระพุทธเจ้าสอนว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น ฯลฯ ถ้าทำเช่นนี้ได้ความทุกข์ก็ยังไม่เกิด เพราะเราไม่สนใจในสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาที่เกิดจากการสัมผัสนั้นๆ เรียกว่าเป็นการตัดสายของปฏิจจสมุปบาทเอาที่สังขารบ้าง ที่วิญญาณบ้าง ที่สัมผัสบ้าง ที่เวทนาบ้าง คือสุดแล้วแต่จะตื่นตัวกันในตอนใดก็ทำในตอนนั้น แก่นของความเป็นตัวกู-ของกู คือสิ่งที่ทำให้เกิดกิเลส เกิดความวุ่นวายในสังคม กิเลสจึงไม่ถือว่าเป็นตัวช่วยให้ทะเยอทะยานในโลกแห่งการแข่งขัน แต่เป็นอุปสรรคที่ทำให้การทำงานใดๆก็ตามประสบแต่ปัญหาตามมา เครดิตภาพ ภาพปก โดย freepik จาก freepik.com ภาพที่ 1 และ 2 โดยผู้เขียน ภาพที่ 3 โดย freepik จาก freepik.com ภาพที่ 4 โดย freepik จาก freepik.com บทความอื่นๆที่น่าสนใจ รีวิวหนังสือ ตำนานพระพุทธเจ้า รีวิวหนังสือ บรรลุธรรมได้ ไม่ติดรูปแบบ รีวิวหนังสือ สัจธรรมแห่งจักรวาล โดย ทันตแพทย์สม สุจีรา รีวิวหนังสือ มหาสติปัฏฐาน ๔ ทางลัดดับทุกข์ รีวิวหนังสือ บันไดสู่นิพพาน รีวิวหนังสือ เรื่องเล่าจากพระไตรปิฎก เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !