รีเซต

โควิด-19: สปุตนิก วี จากวัคซีนที่โลกกังขา สู่เครื่องมือทางการทูตที่ช่วยส่งเสริมสถานะของรัสเซีย

โควิด-19: สปุตนิก วี จากวัคซีนที่โลกกังขา สู่เครื่องมือทางการทูตที่ช่วยส่งเสริมสถานะของรัสเซีย
ข่าวสด
11 กุมภาพันธ์ 2564 ( 10:51 )
50

รัสเซียเป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 สำหรับการใช้อย่างแพร่หลาย โดยตั้งชื่อว่า "สปุตนิก วี" (Sputnik V) ตามชื่อดาวเทียมที่ขึ้นสู่อวกาศดวงแรกของโลกในปี 1957 ของรัสเซีย

แต่ความไม่โปร่งใสและการทดลองวัคซีนชนิดนี้ทำให้เกิดความรู้สึกกังขาและไม่เชื่อมั่นถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยทั้งในหมู่คนรัสเซียและชาวโลก

 

 

ทว่าเกือบ 6 เดือนให้หลัง ความรู้สึกดังกล่าวอาจเริ่มเปลี่ยนไป เพราะชาวรัสเซียจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง โอเลก โบลเดอเรฟ ผู้สื่อข่าวบีบีซี แผนกภาษารัสเซีย ต่างได้รับการฉีดวัคซีนสปุตนิก วี และมันกำลังกลายเป็นหน้าเป็นตา รวมทั้งเป็นเครื่องมือใหม่ทางการทูตของรัฐบาลรัสเซีย

 

ชนะการแข่งขันพัฒนาวัคซีน แต่ไม่ชนะใจคน

ในเดือน ส.ค. 2020 รัสเซียประกาศแผนการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

สถานีโทรทัศน์ของทางการต่างนำเสนอว่าวัคซีนชนิดนี้ คือเครื่องพิสูจน์ว่าวงการวิทยาศาสตร์รัสเซียเป็นผู้นำโลก ดังเช่นที่เคยเป็นเมื่อกว่า 60 ปีก่อน ตอนที่สปุตนิก ดาวเทียมดวงแรกของโลกถูกยิงขึ้นสู่อวกาศ

ทว่าตอนที่ทางการเริ่มจัดโครงการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ให้แก่ประชาชนในเดือน ธ.ค. คนรัสเซียกลับไม่กระตือรือร้นที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนสปุตนิก วี ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนทุกชนิด แม้รัสเซียจะมีคนที่ต่อต้านวัคซีนอยู่บ้างก็ตาม

 

Getty Images

แต่สาเหตุหลักคือ กระแสความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยต่อการที่วัคซีนชนิดนี้ถูกพัฒนาขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้มีประชาชนออกไปรับการฉีดวัคซีนในช่วงแรกไม่มากนัก

นอกจากนี้ ชาวรัสเซียหลายคนยังมีความรู้สึกกังขาต่อการขึ้นทะเบียนวัคซีนที่ดูไม่โปร่งใส รวมทั้งการที่คนในรัฐบาลแสดงอาการกระตือรือร้นและตื่นเต้นกับวัคซีนชนิดนี้เป็นเศษ

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำเสนอสปุตนิก วี ต่อสายตาชาวโลกด้วยความภาคภูมิใจ กลับยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ ซึ่งนั่นไม่ได้ช่วยสร้างความมั่นใจในวัคซีนตัวนี้ให้เพิ่มขึ้น

 

ความกังขาเริ่มจางหายไปแล้วหรือยัง

ยัง แต่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้า

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักโพลล์อิสระในรัสเซียพบว่า 58% ของผู้ที่รู้สึกกังขาต่อสปุตนิก วี ยังคงไม่เชื่อมั่นในวัคซีนชนิดนี้ ขณะที่ 38% บอกว่ามีความเชื่อมั่นแล้ว

ส่วนในกลุ่มผู้ที่ "มีความกังวลมาก" ว่าจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่พร้อมจะรับวัคซีนสปุตนิก วี

ขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้ที่ยังไม่เชื่อมั่นในวัคซีนตัวนี้บอกว่าต้องการหลักฐานเพิ่มเติมที่บ่งชี้ว่ามันมีประสิทธิภาพดี ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น หลังจากวารสารการแพทย์ชั้นนำ The Lancet เผยแพร่ข้อมูลที่ระบุว่า สปุตนิก วี มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้ผลดีในระดับเดียวกับวัคซีนที่พัฒนาโดยชาติตะวันตก คือ มีประสิทธิภาพราว 92%

อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลจากการทดลองประสิทธิภาพวัคซีนของรัสเซีย จึงทำให้เกิดคำถามต่อสถาบันกามาเลยา ศูนย์วิจัยที่พัฒนาวัคซีนตัวนี้

ฝ่ายที่วิจารณ์ชี้ว่า นักวิทยาศาสตร์ผู้เกี่ยวข้องไม่มีความโปร่งใสอย่างแท้จริง ทำให้วารสาร The Lancet กลายเป็นข้อมูลหลักที่มักถูกใช้ในการอ้างอิงถึงความมีประสิทธิภาพของสปุตนิก วี

 

Getty Images
นายซาอีด นามากี รัฐมนตรีสาธารณสุขอิหร่าน (ซ้าย) ยืนดูบุตรชายรับการฉีดวัคซีนสปุตนิก วี โดสแรก

 

รับวัคซีนสปุตนิก วี: ง่ายในมอสโก แต่ยากที่อื่น

ผู้สื่อข่าวบีบีซีซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงมอสโกเล่าว่าการเข้ารับการฉีดวัคซีนของเขาเป็นไปโดยไม่ยุ่งยาก

เขาตรวจสอบบริการจองคิวฉีดวัคซีนออนไลน์ ในช่วงแรกที่รัฐบาลเริ่มโครงการเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และได้คิวการรับวัคซีนที่คลินิกใกล้บ้านทันที ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาคิดว่าจะต้องรอคิวเป็นเวลานานเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่คงต้องการได้รับวัคซีนต้านโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตามเขาตัดสินใจรอต่ออีก 3 สัปดาห์ เพื่อดูว่าจะมีรายงานข่าวอาการข้างเคียงรุนแรงของผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วบ้างหรือไม่ ทว่าเมื่อพยายามเข้าไปจองคิวรับวัคซีนหลังจากนั้น เขาต้องรอคิวนานถึง 2 สัปดาห์ นี่อาจบ่งชี้ว่าคนรัสเซียเริ่มมีความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนนี้เพิ่มขึ้น

 

Getty Images

ผู้สื่อข่าวบีบีซีเล่าว่าขณะนั่งรอดูอาการหลังได้รับวัคซีนที่คลินิก เขาได้พบกับแพทย์หญิงคนหนึ่งที่ไปรับการฉีดสปุตนิก วี เช่นกัน ซึ่งจากท่าทีของเธอเขาสามารถบอกได้ว่าเธอก็ไม่ค่อยจะเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้เท่าใดนัก แต่ก็กลัวจะล้มป่วยรุนแรงจากการติดโรคโควิด-19

แพทย์หญิงผู้นี้ยังมีความรู้สึกแบบเดียวกับผู้สื่อข่าวบีบีซีที่กล้ารับวัคซีนเพราะหลังจากรัสเซียเริ่มโครงการให้วัคซีนแก่ประชาชนมาราว 1 เดือนก็ยังไม่มีรายงานพบผู้แสดงอาการข้างเคียงรุนแรงใด ๆ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นอกกรุงมอสโกกลับต่างออกไป ผู้สื่อข่าวบีบีซีระบุว่า ทางการมุ่งให้วัคซีนแก่คนในเมืองหลวงเป็นอันดับต้น ๆ เพราะเกือบ 10% ของประชากรรัสเซียกระจุกตัวอยู่ที่นี่

 

Getty Images

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ประชากรในพื้นที่อื่น ๆ ของรัสเซียยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้โดยง่ายนั้น มาจากอุปสรรคหลายประการ อาทิ การขนส่ง และการเก็บรักษา แม้ว่าสปุตนิก วี จะไม่ต้องเก็บรักษาไว้ในอุณภูมิต่ำมากแบบวัคซีนชนิดอื่น คือสามารถเก็บไว้ในตู้แช่ที่มีอุณหภูมิระหว่าง -18 ถึง 8 องศาเซลเซียสก็ตาม

ผลการวิเคราะห์อิสระบ่งชี้ว่า ปัจจุบันมีคนรัสเซียไม่ถึง 1.5 ล้านคน หรือกว่า 1% ของประชากรทั้งประเทศได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว ส่วนตัวเลขของผู้ที่ได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดสอยู่ที่ราว 120,000 คน

 

สปุตนิก วี ทำงานอย่างไร

สปุตนิก วี เป็นวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (viral vector vaccine) แบบเดียวกับวัคซีนออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ที่พัฒนาขึ้นในสหราชอาณาจักร

วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ ผลิตขึ้นโดยใช้ไวรัสชนิดที่ทำให้อ่อนฤทธิ์แล้วและไม่เป็นอันตรายต่อคนมาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ลงไป แล้วฉีดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 และสามารถตรวจจับและต่อสู้กับเชื้อได้

 

BBC

การทูตวัคซีน

นอกจากประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขแล้ว สปุตนิก วี ยังได้กลายเป็นเครื่องมือทางการทูต ที่ช่วยส่งเสริมสถานะของรัสเซียบนเวทีโลกด้วย

รายงานจากรัฐบาลรัสเซียระบุว่า ส่วนหนึ่งของวัคซีนสปุตนิก วี ที่ผลิตแล้วกว่า 8 ล้านโดส จะถูกส่งไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ได้สั่งซื้อไว้เมื่อหลายเดือนก่อน

ปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้ได้รับการอนุมัติการใช้ใน 15 ประเทศ และมีอีกอย่างน้อย 5 ประเทศที่กำลังพิจารณา โดยประเทศที่อนุมัติการใช้แล้วมีอาทิ อาร์เจนตินา อินเดีย อิหร่าน ตูนิเซีย และปากีสถาน ส่วนจีนและเกาหลีใต้ได้แสดงความสนใจเช่นกัน

 

EPA
โบลิเวียได้รับส่งมอบวัคซีนสปุตนิก วี เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

 

กองทุนการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund หรือ RDIF) องค์กรในสังกัดรัฐบาลรัสเซียที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่โครงการพัฒนาสปุตนิก วี ระบุว่าปัจจุบันมีคนกว่า 2 ล้านคนทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้ว

เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา RDIF ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนสปุตนิก วี ต่อสหภาพยุโรป และเยอรมนีได้แสดงความสนใจ หากวัคซีนผ่านการอนุมัติให้ใช้ได้จากหน่วยงานที่กำกับดูแล

 

ขณะเดียวกันผลการศึกษายืนยันประสิทธิภาพสปุตนิก วี ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ก็ยิ่งช่วยส่งเสริมสถานะของรัสเซียในโลกที่กำลังต้องการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

ปัจจุบัน นอกจากสปุตนิก วี รัสเซียยังมีวัคซีนโควิดอีก 2 ชนิดที่พัฒนาขึ้นในประเทศและกำลังจะผลิตออกใช้ในวงกว้าง ทว่ายังคงมีคำถามเดิม ๆ รออยู่ นั่นคือ เรื่องความโปร่งใสและถูกต้องของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งคำถามเรื่องประสิทธิภาพว่าจะสามารถใช้ต่อสู้กับเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ชนิดใหม่ได้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง