รีเซต

มหกรรมยาง วันสุดท้ายยังคึก! เกษตรกรภูเก็ตปลื้มได้ความรู้ต่อยอด ประสานเสียงวอน 'จัดอีก'

มหกรรมยาง วันสุดท้ายยังคึก! เกษตรกรภูเก็ตปลื้มได้ความรู้ต่อยอด ประสานเสียงวอน 'จัดอีก'
มติชน
10 เมษายน 2565 ( 17:29 )
87

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช  วันสุดท้ายของการจัดงาน “มหกรรมยางพารา 2564” นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า มีประชาชน เกษตรกรจำนวนมาก ได้เข้าร่วมงานตั้งแต่ช่วงเช้า มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าโอท็อป ตามบูธร้านค้าต่างๆ

 

น.ส.วาสนา จูจิตร เกษตรกรเจ้าของสวนยาง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช และ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนหมอนยางพาราคลองโอม กล่าวว่า 2 วันที่ผ่านมาขายหมอนยางพาราไปได้แล้ว 80 กว่าใบ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 50,000 บาท ส่วนวันนี้วันสุดท้ายขายหมอนยางพาราไปได้มากกว่า 20 ใบ

 

“ตัวเราเองทำอาชีพชาวสวนยางอยู่แล้ว พอมีเวลาว่างก็จะไปผลิตหมอนยางพารากับกลุ่มเพื่อนสมาชิก พอได้มางานมหกรรมนี้ ทำให้เพื่อนๆในกลุ่มดีใจเป็นอย่างมากที่ มีคนสนใจซื้อหมอนยางพาราไปเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้มีการจัดงานมหกรรมแบบนี้อีกเรื่อยๆ”น.ส.วาสนากล่าว

 

นายไมตรี หมั่นแก้ว เจ้าของบริษัท MT Green Group ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำตาลจากต้นจาก กล่าวว่า มีลูกค้าสนใจผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก อาทิ น้ำตาลผงจากลูกจาก น้ำส้มจากลูกจาก สุราขาว โดยตลอดการจัดงานมหกรรมทั้ง 3 วัน มียอดขายรวมประมาณ 7,000 บาท

 

“ผลิตภัณฑ์จากต้นจาก สามารถมาทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ตั้งแต่มุงหลังคา ขนมจาก น้ำหวานจาก แต่พอน้ำหวานจากตั้งไว้นานๆ จะกลายเป็นน้ำส้ม ซึ่งจะมีจุลินทรีย์เหมือนนมเปรี้ยว สามารถใช้แทนเป็นน้ำส้มสายชู นำมาเป็นเครื่องปรุงใส่ในต้มส้มปลากระบอก เป็นเมนูเด็ดของปากพนัง

นายไมตรีกล่าวว่า ส่วนสุราขาว ผลิตจากโรงกลั่นชุมชน มีการเสียภาษีสรรพสามิต มีแสตมป์ภาษีติดอยู่ที่ฉลาก ซึ่งตอนนี้ทางกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ก็มีการส่งเสริมด้วย

“อยากให้มีการจัดงานมหกรรมแบบนี้อีก โดยผู้เข้างานส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่สนใจผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพเครือข่ายเพื่อนฝูงที่มาขายสินค้าด้วยกัน เช่น ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์กัญชงกัญชา ก็ขายได้ จึงเป็นผลดีทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ร่วมงานก็ได้มาจับจ่ายใช้สอยสินค้าส่งเสริมสุขภาพ

มาออกบูธครั้งนี้เป็นครั้งแรก ก็ตกใจเหมือนกันว่าคนมาเยอะมากยิ่งใหญ่มาก มีท่านรัฐมนตรีมาเปิดงาน ทีมงานข้าราชการมาเต็มไปหมด ก็ดีใจที่ได้มาร่วมงาน” นายไมตรี กล่าว

น.ส.เรณุภา ชูอุดมทรัพย์ ครอบครัวเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางกว่า 100 ไร่ ในจ.ภูเก็ต ขับขี่รถยนต์ส่วนตัวมาร่วมงาน โดยเล่าว่า สิ่งที่ชอบมากที่สุดในงานมหกรรม คือส่วนของนิทรรศการ และเสวนาวิชาการ ที่ได้มีการพูดคุยเรื่องนวัตกรรมทิศทางในอนาคตของยางพาราจะไปในทิศทางใด ซึ่งก็หวังว่าจะมีการจัดงานแบบนี้ในอนาคต

“สิ่งที่ได้รับความรู้จากงาน เป็นเรื่องของพืชที่จะปลูกควบคู่ไปกับการปลูกยาง การต่อยอดผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน แต่จากที่ฟังมาต้องอาศัยจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวเกษตรกรเอง ผลักกันควบคู่กันไปหมด เกษตรกรก็จะพยายามทำสวนยางยั่งยืนตามคำแนะนำที่มีการบอกไว้” น.ส.เรณุภากล่าว

ด้านนางฉันทนา ส่อเจริญ มารดา น.ส.เรณุภา กล่าวเสริมว่า ครอบครัวตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ประกอบอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางมาโดยตลอด เราก็ต้องต่อยอด เพื่อให้มีการสืบทอดอาชีพนี้ต่อไปในครอบครัว ซึ่งในงานนี้ได้มีการสั่งสมความรู้ เพื่อเอาไปใช้พัฒนาต่อยอด โดยสวนยางของครอบครัวก็ได้มีการปลูกพืชผสมผสานไปบ้างแล้ว