ปัญหาการอ่านหนังสือของเด็กไทย กลายเป็นประเด็นสำคัญที่องค์กรต่าง ๆ ได้เคลื่อนไหวเพื่อหาวิธีแก้ไขกันมาตลอดหลายสิบปี นอกจากปัจจัยที่สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กที่ไม่เพียงพอ การขาดแคลนครูผู้สอน ขาดแคลนสื่อการสอน หนังสือและอุปกรณ์การเรียนที่เด็กไทยหลายรายไม่สามารถเข้าถึงได้ ล่าสุดยังพบว่าเด็กไทยยังตกอยู่กับการเผชิญโรคทางพันธุกรรม ที่ส่งผลต่อการอ่านหนังสือ โรคดังกล่าวทำให้การสะกดคำเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เด็กที่เป็นโรคนี้จะอ่านหนังสือไม่ออก ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางการเรียนรู้ และเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาความจริงแล้วโรคที่จะกล่าวถึงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลายวันก่อนผู้เขียนได้อ่านข่าวเกี่ยวกับผลวิจัยขององค์กรด้านการศึกษา ซึ่งพบว่าเด็กรุ่นใหม่มีอัตราการป่วยเป็นโรคนี้กันมากขึ้น จึงอยากนำเสนอข้อมูลที่ผู้ปกครองควรรู้ เพื่อที่จะได้รับมือและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที หากพบว่าบุตรหลานในการปกครองเป็น โรคดิสเล็กเซีย (Dyslexia) หรือ โรคบกพร่องทางการอ่าน เพราะถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีสกู๊ปข่าวที่นำเสนอในทำนองว่าอัจฉริยะของโลกหลายท่านจะป่วยเป็นโรคนี้ แต่ในโลกความเป็นจริง หากโรคนี้เกิดขึ้นกับบุตรหลานของเรากลับไม่ใช่เรื่องน่ายินดี แต่เป็นโรคที่ก่อให้เกิดผลกระทบอันรุนแรงต่อพัฒนาการด้านการอ่านของเด็กเลยก็ว่าได้โรคบกพร่องทางการอ่าน เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางพันธุกรรม ทำให้การทำงานของเซลล์สมองซีกซ้ายผิดปกติ ทำให้คนที่เป็นโรคนี้ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ แต่อาการจะแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล บางคนมองเห็นตัวอักษรสลับไปสลับมา บางคนจำไม่ได้ว่าพยัญชนะและสระออกเสียงอย่างไร บางคนไม่เข้าใจว่าการประสมพยัญชนะ สระ และตัวสะกดให้ออกมาเป็นคำหนึ่งคำนั้นต้องทำอย่างไร แน่นอนว่าอาการเหล่านี้ทำให้อ่านหนังสือไม่ออก แต่สามารถจดจำคำเหล่านั้นผ่านการได้ยิน เป็นอุปสรรคในการเรียนและใช้ชีวิตประจำวัน อย่างคนมีชื่อเสียงในบ้านเราที่เป็นโรคนี้คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่สำหรับการร้องเพลงจะใช้วิธีจดจำจากคนอื่นแล้วร้องตามด้วยเสียงของตัวเองปัญหาใหญ่ที่ผู้เขียนหยิบเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพราะองค์กรด้านการศึกษาในบ้านเราไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ หลายคนรู้กันดีว่าเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออกมักจะเรียนไม่ทันเพื่อน ไม่สามารถทำกิจกรรมด้านการอ่าน ทำข้อสอบไม่ได้ เมื่อผลการเรียนย่ำแย่ก็จะถูกลงโทษจากทั้งครูและผู้ปกครอง ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่อยากเรียนหนังสือ ไม่อยากมาโรงเรียน และแน่นอนว่าต้องเกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต อย่างที่ มาเลเซีย เป็นต้นแบบที่มีองค์กรช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคดิสเล็กเซีย ทำการวิจัยอาการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จึงพบว่ามีเด็กทั่วโลกที่เป็นโรคบกพร่องทางการอ่านเพิ่มขึ้นจาก 4% เป็น 10% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาถ้าจะพูดกันแบบตรงไปตรงมา โรคนี้ไม่ใช่โรคทางกายที่รับประทานยาแล้วจะหายขาด แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคดิสเล็กเซีย แนะนำให้ผู้ปกครองติดตามอาการของบุตรหลานตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือ หากพบว่ามีอาการจำตัวอักษรสลับไปสลับมา ไม่สามารถสะกดคำได้เหมือนเด็กทั่วไป จะต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการเลี้ยงดูและการเรียนการสอนใหม่ทั้งหมด เพื่อจะแก้ไขปัญหาอย่างอดทน ผู้ปกครองต้องยอมรับและทำความเข้าใจกับอาการบกพร่องทางการอ่านของเด็ก แล้วหาวิธีพัฒนาศักยภาพด้านการอ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งใช้เวลาเพื่อให้เด็กที่เป็นดิสเล็กเซีย ได้ค้นพบศักยภาพด้านอื่น ๆ ที่มีในตัวเอง เพราะส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะมีทักษะพิเศษที่แฝงมาอย่างมหัศจรรย์ เช่น ทักษะการเล่าเรื่อง ทักษะด้านการแก้ปัญหา ดังนั้นสิ่งสำคัญคือครอบครัวที่จะต้องอยู่เคียงข้างเด็กเหล่านี้ คอยแก้ไขปัญหาไปทีละเล็กทีละน้อย อยู่เคียงข้างจนถึงวันที่บุตรหลานของเราค้นพบความถนัดในตัวเอง จึงเป็นวิธีที่จะช่วยลดอุปสรรคในการเติบโตของพัฒนาได้อย่างดีที่สุดรูปภาพหน้าปก โดย Siora Photography : Unsplashภาพประกอบที่ 1 โดย Iana Dmytrenko : Unsplashภาพประกอบที่ 2 โดย Jonny McClung : Unsplashภาพประกอบที่ 3 โดย Jerry Wang : Unsplash