9 วิธีลดกลิ่นย้อนกลับในอาคาร จากท่อน้ำทิ้งและน้ำเสีย | บทความโดย Pchalisa ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวนจากท่อน้ำทิ้งและน้ำเสีย เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในอาคารบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ ค่ะ ที่นอกจากกลิ่นเหม็นไม่เพียงแต่จะสร้างความรำคาญใจให้ผู้อยู่อาศัยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยอีกด้วย โดยปัญหานี้เกิดจากหลายสาเหตุมากค่ะ เช่น การอุดตันของท่อ การรั่วซึมของท่อ การออกแบบระบบท่อที่ไม่เหมาะสม หรือแม้แต่การใช้งานที่ไม่ถูกวิธี เพื่อหาทางออกให้กับเรื่องนี้ ในบทความนี้ผู้เขียนจะมานำเสนอ 7 วิธีแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นย้อนกลับในอาคาร ที่เกิดจากท่อน้ำทิ้งและน้ำเสียค่ะ ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถนำไปใช้ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยให้คุณผู้อ่านสามารถกำจัดกลิ่นเหม็นรบกวนเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน และกลับมามีพื้นที่อยู่อาศัยที่สะอาดและสดชื่นอีกครั้งค่ะ ส่วนจะมีวิธีการอะไรบ้างนั้น เรามารู้จักไปพร้อมๆ กันดีกว่าค่ะ 1. ทำความสะอาดท่อระบายน้ำเป็นประจำ การทำความสะอาดท่อระบายน้ำประจำ มีส่วนช่วยลดต้นเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นค่ะ เพราะปกติกลิ่นคือผลผลิตสุดท้ายของการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศในท่อระบายน้ำเสีย การลองใช้สารเคมีสำหรับทำความสะอาดท่อ หรือมีส่วนผสมตามธรรมชาติ เช่น เบกกิ้งโซดาและน้ำส้มสายชู แบบนี้สามารถช่วยได้ค่ะ ซึ่งปกติผู้เขียนทำความสะอาดรางระบายน้ำประจำอยู่แล้ว และรางเป็นแบบเปิดจึงไม่ได้ส่งผลมากนักเหมือนท่อระบายน้ำแบบปิดและเชื่อมต่อเข้ากับอาคารค่ะ 2. กำจัดสิ่งอุดตันที่ทำให้เกิดกลิ่น การใช้ตะแกรงปิดท่อเพื่อป้องกันเศษอาหารหรือสิ่งสกปรกไม่ให้ไหลลงไปอุดตัน แบบนี้ช่วยลดต้นเหตุของการเกิดกลิ่นย้อนกลับเข้ามาในอาคารได้ค่ะ อีกทั้งหากพบว่าท่อระบายน้ำของเรามีตะกอนสะสมมากจนทำให้เกิดท้องช้าง แบบนี้ก็ต้องตักออกและทำความสะอาดค่ะ สำหรับที่นี่ผู้เขียนทำความสะอาดประจำค่ะ กับท่อรับน้ำทิ้งค่อนข้างสั้น เลยไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่มาก เมื่อเทียบกับบางที่ 3. ติดตั้งท่อระบายอากาศ การมีท่อระบายอากาศ มีส่วนช่วยระบายกลิ่นออกสู่ภายนอกอาคารได้ค่ะ แต่ควรติดตั้งท่อระบายอากาศให้สูงกว่าหลังคา เพราะถ้าต่ำมากจะทำให้คนเราสามารถได้รับกลิ่นเหม็นได้ และกลายเป็นเหตุรำคาญค่ะ และส่วนมากเราจะพบการติดตั้งท่อระบายของถังเกรอะนะคะ เพราะกลิ่นย้อนกลับมาในอาคารส่วนใหญ่ ก็มาจากการที่ชักโครกเกิดสูญญากาศจากที่การระบายอากาศไม่ดี และทำให้กลิ่นเหม็นตีกลับเข้ามาแทนค่ะ 4. ตรวจสอบและทำความสะอาดที่ดักกลิ่น ที่ดักกลิ่น คือ ส่วนโค้งของท่อที่ช่วยดักกลิ่นไม่ให้ย้อนกลับเข้ามาในอาคาร และที่ดักกลิ่นตามพื้นห้องน้ำ ที่อาศัยการมีน้ำขังและมีฝาปิดไปครอบอีกที ที่ดักกลิ่นทั้งหมดไม่ว่าจะหน้าตาแบบไหนก็ตาม ทำหน้าที่ดักกลิ่นไม่ให้ย้อนกลับเข้ามาได้ค่ะ จึงต้องมีการถอดออกมาและทำความสะอาดเป็นประจำเพื่อขจัดสิ่งสกปรกค่ะ ที่ส่วนมากก็จะเป็นพวกขยะ โดยเฉพาะเส้นผมและเศษขยะชิ้นเล็กๆ และถ้าไม่มีที่ดักกลิ่นก็ต้องหามาใส่ไว้ค่ะ 5. เทน้ำร้อนลงในท่อ คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า? การเทน้ำร้อนลงไปในท่อระบายน้ำทิ้ง มีส่วนช่วยละลายไขมันและสิ่งสกปรกที่เกาะตามผนังท่อได้ ซึ่งแนวทางนี้ผู้เขียนก็ได้ทำบ้างแต่ไม่บ่อย โดยส่วนมากจะเทในอ่างล้างหน้าค่ะ ก็ช่วยได้และไม่มีกลิ่นรบกวนเข้ามา แต่อย่างที่ผู้เขียนบอกไปแล้วก่อนหน้านี้ค่ะว่า ที่นี่ท่อน้ำทิ้งค่อนข้างสั้น เลยเหมือนกับว่าเรื่องกลิ่นไม่ได้รุนแรงมากนัก 6. ใช้สารดูดกลิ่น การลองใช้ผลิตภัณฑ์ดูดกลิ่น เช่น ถ่านกัมมันต์ หรือก้อนกำจัดกลิ่นแบบต่างๆ สามารถช่วยลดกลิ่นได้ชั่วคราวค่ะ ซึ่งแนวทางนี้ผู้เขียนก็ประยุกต์ใช้บ้าง ทั้งได้นำลูกมะกรูดมาหั่นและวางไว้ในห้องน้ำ กับซื้อเจลดับกลิ่นมาวางไว้ในห้องส้วมค่ะ 7. ตรวจสอบและซ่อมแซมท่อที่รั่ว หลายๆ ครั้งการมีกลิ่นย้อนมาในอาคาร มักเกิดจากการที่มีท่อที่รั่วนะคะ กลิ่นเหม็นมีสถานะเป็นก๊าซค่ะ เพราะฉะนั้นเขาจะลอยขึ้นที่สูงไปสู่ที่ชอบๆ รูเท่ารูเข็มก็มีกลิ่นเหม็นได้ ดังนั้นต้องซ่อมแซมท่อรับน้ำทิ้งใหม่ เพื่อปิดช่องทางไม่ให้กลิ่นเหม็นกระจายออกมาภายในอาคารค่ะ 8. ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ การมีพัดลมดูดอากาศมีส่วนช่วยอย่างมาก ในกรณีอาคารของเราค่อนข้างเป็นอาคารปิดนะคะ ที่พัดลมระบายอากาศช่วยทำให้เกิดการไหลเวียนของกลิ่นออกไปนอกอาคารได้ จึงง่ายที่เราจะไม่หงุดหงิดจากกลิ่นเหม็นค่ะ 9. ยาแนวรอยต่อตามจุดต่างๆ ให้ดี ประเด็นนี้ต้องขอพูดถึงบ้านน้าของผู้เขียนค่ะ ที่มีกลิ่นย้อนเข้ามาในอาคาร พอไปตรวจก็เจอว่า รอยต่อของชักโครกทำไว้ไม่ได้เท่าที่ควร จึงยาแนวใหม่ ปรากฏว่าดีขึ้นมากและไม่มีกลิ่นในที่สุดค่ะ กลิ่นจากจุดนี้มาจากถังเกรอะหรือถังส้วมนะคะ มันเหม็นและย้อนมาในอาคารได้ เพราะเกิดจากการย่อยสลายของสิ่งปฏิกูลในถังเกรอะแบบไม่ใช้อากาศค่ะ ดังนั้นตรวจสอบรอยต่อต่างๆ ให้ดี และเปลี่ยนซีลยางที่ชำรุดตามข้อต่อต่างๆ ให้เรียบร้อยเสมอค่ะ และทั้งหมดนั้นคือแนวทางในการกำจัดและลดปัญหา เรื่องของกลิ่นเหม็นที่ย้อนกลับเข้ามาในอากาศนะคะ พอจะมองภาพออกไหมคะ? ยังไงนั้นคุณผู้อ่านต้องลองอ่านและทำความเข้าใจดีๆ ก่อน จากนั้นให้นำวิธีการในนี้ไปจับกับสถานการณ์ที่ตัวเองกำลังเจออยู่ตอนนี้ค่ะ ที่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องนำทุกแนวทางในนี้ไปใช้หมดนะคะ ยกตัวอย่าง เช่น สมมติว่าตอนนี้ห้องน้ำที่วัดมีกลิ่นเหม็นย้อนกลับเข้ามา แต่ตัวโครงสร้างของห้องน้ำโล่งและสูงมากพอแล้วที่แสงส่องได้ทั่วถึง ซึ่งสถานการณ์นี้ก็เป็นไปได้ว่าท่อระบายอากาศของถังเกรอะอาจไม่เหมาะสม ที่อาจเป็นติดตั้งไว้ต่ำเกินไปหรือท่อมีขนาดเล็กเกินไปก็ได้ จึงทำให้เราได้กลิ่นเหม็นตอนมาห้องน้ำ ดังนั้นการแก้ไขเรื่องกลิ่นมันจะไม่ตายตัว แต่ให้ไปดูหน้างานของเราโดยตรงเลย และแก้ไปตามต้นเหตุในตอนนั้นค่ะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ😁 เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา : พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ : สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://news.trueid.net/detail/J8eOaNxGPkMX https://news.trueid.net/detail/Pm4WoKb3BV7x https://news.trueid.net/detail/vKRN0rBLOpkK เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !