โรงเรียนขานรับปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวัน ชี้เด็กจะได้ทั้งปริมาณและของดีมีคุณภาพมากขึ้น
วันนี้ ( 9 พฤศจิกายน 65) จากกรณี ครม.มีมติเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้เด็กเล็ก-ป.6 ในอัตราตามขนาดโรงเรียน โรงเรียนในจังหวัดมหาสารคาม มีการขานรับนโยบาย เชื่อเด็กได้รับประทานอาหารทั้งคุณภาพและปริมาณที่ดีขึ้น ด้านผู้ประกอบการโอดวันไหนมีเมนูเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบหลักก็ขาดทุน
นายพิชัย อันปัญญา รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม กล่าวว่า โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ถึง ม.6 รวมกว่า 1,000 คน มีนักเรียนชั้นอนุบาล ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 634 คน ที่ได้รับจัดสรรอาหารกลางวันกับทางโรงเรียน
โดยมีการแบ่งอาหารออกเป็น 3 ชุด คือ ระดับอนุบาล ประถมต้น ป.1- ป.3 และ ประถมปลาย ป.4-ป.6 เนื่องจากในการปรุงอาหารแม่ครัวจะปรุงอาหารในรสชาติที่แตกต่างกัน โดยจะมีคณะกรรมการตรวจวัตถุดิบก่อนปรุงอาหาร และมีการตรวจรับอาหารหลังจากประกอบเสร็จสิ้นแล้ว ครูจะตรวจเช็คคุณภาพอาหารเป็นรายวัน ว่ามีผักมีเนื้อในปริมาณที่เพียงพอหรือไม่ รสชาติอาหารเป็นอย่างไร ถูกปากนักเรียนหรือไม่ หากมีข้อปรับปรุงก็จะแจ้งให้กับทางผู้ประกอบการทราบ เพื่อให้มีการแก้ไขต่อไป
ส่วนการรับประทานอาหารอนุบาลทานอาหาร 10.30 น. ชั้นประถม 11.30น. มีการเหลื่อมเวลาเล็กน้อย มีแม่ครัว และคุณครูตักอาหารให้ เพื่อควบคุมปริมาณอาหารให้นักเรียนได้รับอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้จัดอาหารใส่ถุงให้กับนักเรียนที่ทางบ้านมีฐานะไม่สู้ดีนัก ได้กลับไปรับประทานที่บ้านกับครอบครัว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวอีกด้วย
ที่ผ่านมาในเรื่องคุณภาพของอาหารถือว่าผ่านเกณฑ์ งบประมาณที่ได้รับต่อคนต่อหัว คนละ 21 บาทถือว่าพอเพียง ด้วยปริมาณนักเรียนที่มีจำนวนเยอะ ทุกอย่างก็พอถัวเฉลี่ยกันไปได้ แต่หากได้เพิ่มมาอีก 1 บาท เป็น 22 บาท ก็น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการมากกว่า เพราะทุกวันนี้วัตถุดิบต่าง ๆ มีการปรับขึ้นราคาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากผู้ประกอบการอยู่ได้ นักเรียนก็จะได้รับอาหารที่มีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น
ด้านนางรัศนี อันพันลำ ผู้ประกอบการอาหาร กล่าวว่า ทุกวันนี้วัตถุดิบต่าง ๆ มีการปรับเพิ่มราคาเพิ่มสูงขึ้น ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ผัก และเครื่องปรุงต่าง ๆ หากวันไหนเมนูอาหารมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบจำนวนมาก เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง วันนั้นก็จะขาดทุน เพราะเนื้อสัตว์มีต้นทุนที่สูง ส่วนวันอื่น ๆ เมนูต่าง ๆ ก็ถัวเฉลี่ยกันไป เพราะมีค่าใช้จ่ายทุกวัน เช่นค่าแรง ค่าแม่ครัว ทุกอย่างคือต้นทุน หากมีการปรับเพิ่มค่าหัวให้นักเรียนอีก 1 บาท จากเดิม 21 บาท เป็น 22 บาท ก็จะช่วยได้มากขึ้น ลดต้นทุนให้เราได้มากขึ้น นักเรียนก็จะได้รับประทานอาหารที่ดีขึ้นตามไปด้วย