รีเซต

แบงก์ชาติ ชี้วิกฤต ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ทำค่าเงินบาทผันผวน-เงินเฟ้อพุ่ง - เผย สวิฟต์ ยังไม่กระทบการชำระเงินของไทย

แบงก์ชาติ ชี้วิกฤต ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ทำค่าเงินบาทผันผวน-เงินเฟ้อพุ่ง - เผย สวิฟต์ ยังไม่กระทบการชำระเงินของไทย
ข่าวสด
28 กุมภาพันธ์ 2565 ( 17:48 )
39
แบงก์ชาติ ชี้วิกฤต ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ทำค่าเงินบาทผันผวน-เงินเฟ้อพุ่ง - เผย สวิฟต์ ยังไม่กระทบการชำระเงินของไทย

ข่าววันนี้ น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กรณีที่สหรัฐ และชาติพันธมิตรตะวันตก ประกาศที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วยการตัดบรรดาธนาคารรัสเซียหลายแห่งออกจากระบบสมาคมธุรกิจโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก หรือ สวิฟต์ (SWIFT) ว่า ธปท. กำลังติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นมองว่าประเด็นดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการชำระเงินของไทย

 

ทั้งนี้ มีการประเมินผลกระทบในระยะสั้นจะเกิดผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.ความผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังค่อนข้างดี แต่คงเริ่มเห็นผลกระทบบ้างจากเงินบาทที่เริ่มผันผวนขึ้น 2.อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นซับพลายเชนสำคัญในภาคการผลิต และ 3.เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวลง โดยไทยมีการค้าและการลงทุนกับ 2 ประเทศนี้ไม่สูงมากนัก ดังนั้นผลกระทบที่คาดว่าจะเห็นหลักๆ คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

 

“ธปท. ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าที่สุดแล้วการแซงชั่นจะรุนแรงแค่ไหน ติดตามดูการหารือกันระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะทำ หรือไม่ทำ หากทำจะมากหรือน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้คงทำให้ระบบการชำระเงินของรัสเซียมีปัญหาแน่นอน ส่วนประเทศต่างๆ คิดว่าน่าจะมีแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือเรื่องนี้ โดยเบื้องต้นเชื่อว่าระบบการชำระเงินของไทยไม่น่าจะมีปัญหา ขณะที่ภาคธุรกิจไทยเท่าที่ได้มีการพูดคุยกับคนที่เข้าไปลงทุนในรัสเซีย ส่วนใหญ่จะมีแนวทางในการบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะปัญหาการแซงชั่นไม่ใช่เพิ่งเกิด มีเป็นระยะต่อเนื่อง ดังนั้นคงต้องรอดูความชัดเจนว่ารัสเซียจะมีแผนรองรับเรื่องนี้อย่างไร”น.ส.ชญาวดี กล่าว

 

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2564 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ จะเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้ปีนี้โตได้ดีกว่าที่คาด แต่ในระยะต่อไปก็มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คงต้องมีการประมวลอีกครั้ง โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบถัดไป จะมีติดตามรายละเอียดทั้งหมดเพื่อดูว่าจะปรับประมาณการเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างไร โดยปัจจัยหลักคงขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของสถานการณ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง