เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 เราได้มีโอกาสไปร่วมปฏิบัติหน้าที่ ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค วันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2562 ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งระหว่างพักรอเวลา เราได้มีโอกาสอันดีไปเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ฯ อันทรงคุณค่าแห่งนี้ จึงอยากนำเรื่องราวมาแบ่งปันกันค่ะ// Photo by sakooclub // ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย โดยตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งกรุงเทพฯอาคารที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เคยเป็นอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของประเทศไทย ดังนั้น เนื้อหาการนำเสนอของส่วนจัดแสดงต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องราวในอดีตของธนาคารแห่งประเทศไทยหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจค่ะ เช่น อาคารแห่งนี้เมื่อครั้นอดีตไม่มีบันได แต่ขึ้นลงด้วยลิฟต์ เพื่อขนย้ายธนบัตรไปยังส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ส่วนบันไดในปัจจุบันสร้างขึ้นภายหลังเมื่อปรับปรุงภายหลังเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ สำหรับพื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้มีหลายชั้น และมีประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกัน ดังนี้ค่ะชั้นใต้ดิน B2 จัดแสดงนิทรรศการเงินตรา บอกเล่าวิวัฒนาการของการแลกเปลี่ยนเงินตราที่เกิดขึ้นในมุมต่าง ๆ ของโลก ซึ่งเริ่มจากการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของ แลกเปลี่ยนเงินกับสิ่งของ โดยนิทรรศการได้บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนนิยามและความหมายของเงินรูปแบบต่าง ๆ คือ เงินลิเดีย เงินตรา ฯลฯ โดยในห้องจัดแสดงนี้ เราจะได้เห็นเงินลิเดียที่มีอายุมากกว่า 2,500 ปี นอกจากนี้ ยังมีจอทีวีแบบอินเทอร์แอคทีฟ ให้เล่นสนุกสนาน เพื่อตอบคำถามด้วยนะคะ // Photo by sakooclub //ชั้นใต้ดิน B1 จัดแสดงนิทรรศการระบบเงินในประเทศไทย เช่น เบี้ย เงินพดด้วง ธนบัตร เป็นต้น ในส่วนหนึ่งของนิทรรศการพาเราย้อยกลับไปที่ "ห้องมั่นคง" ที่ใช้ในการเก็บธนบัตรที่ผ่านการพิมพ์แล้ว แต่ยังไม่ได้ตัดออกจากกันด้วยค่ะ รวมถึงมีกิจกรรรมใช้ดินสอฝนทับลายเส้น เพื่อให้เกิดลวดลายบอกเล่าเรื่องราวประวัติของเงินตราด้วยนะคะในชั้นนี้ มีห้องธนบัตรไทย ซึ่งจัดแสดงเงินกระดาษแบบแรกของประเทศไทยที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเรียกว่า "หมาย" รวมทั้งการจัดแสดงธนบัตรแบบแรกของไทยที่เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นการพิมพ์บนกระดาษเพียงด้านเดียว รวมไปถึงการจัดแสดงธนบัตรแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีธนบัตรที่ระลึกแบบต่าง ๆ มากมาย นักสะสมธนบัตรต้องไม่พลาดห้องนี้นะคะ// Photo by sakooclub //ชั้น 1 จัดแสดงนิทรรศการบอกเล่าถึงประวัติการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย บทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย และการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินให้แก่ผู้เข้าชมนิทรรศการด้วยนะคะ// Photo by sakooclub //ชั้น 2 จัดแสดงประวัติของธนาคารแห่งประเทศไทย และแท่นพิมพ์ธนบัตรในอดีตของประเทศไทย ซึ่งแท่นพิมพ์แต่ละเครื่องทำหน้าที่แตกต่างกันนะคะ เช่น พิมพ์ลายพื้น พิมพ์ลายเซ็น ฯลฯ รวมถึงการจัดแสดงอุปกรณ์ในการแกะแบบบล็อกพิมพ์ธนบัตรด้วยค่ะ// Photo by sakooclub //ชั้น 3 เป็นห้องสมุด และห้องประชุมจำนวน 70 - 80 ที่นั่ง รวมทั้งจัดพื้นที่เป็น Co-Working Space ชั้น 5 เป็นห้องประชุมซึ่งสามารถจุผู้เข้าร่วมประชุมได้ 250 - 300 ที่นั่งสำหรับผู้สนใจที่อยากค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ที่นี่ก็มีศูนย์ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เข้ามาศึกษาหาความรู้กันด้วยนะคะ โดยศูนย์ข้อมูลตั้งอยู่ชั้นล่างของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยนะคะ และบริเวณไม่ห่างกันนักยังมีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้มาเยือนด้วยค่ะ// Photo by sakooclub // ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่าของประเทศไทย เพราะประกอบด้วยพื้นที่การจัดนิทรรศการที่สวยงาม เนื้อหาสมบูรณ์แบบ และครบถ้วน จึงขอเชิญชวนให้เพื่อน ๆ หาโอกาสมาเยี่ยมเยียน และเรียนรู้นะคะบทส่งท้ายพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.30 - 16.30 น. กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดทำหนังสือแจ้งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ล่วงหน้า 1 สัปดาห์ เพื่อจะได้จัดอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าชมค่ะ